ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 3/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 28, 2010 14:02 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 3/2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งมีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ได้มีการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 เวลา 14.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม เดช สนิทวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นั้น สศช. สรุปผลการประชุมคณะกรรมการฯ ดังนี้

1. ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง คณะกรรมการได้พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.1 ความเป็นมา วันที่ 29 กันยายน 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเพิ่มทุนแก่กองทุนหมู่บ้านฯ วงเงินจำนวน 19,559.20 ล้านบาท และวันที่ 20 ตุลาคม 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 149,999.84 ล้านบาท เพื่อนำมาสนับสนุนโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งมีโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง วงเงิน 19,559.20 ล้านบาท รวมอยู่ด้วย

1.2 สาระสำคัญของโครงการ

1.2.1 โครงการจะดำเนินการเพิ่มเงินทุนให้กับกองทุนฯ ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วตามจำนวนสมาชิกที่ระบุในวันที่ได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนนิติบุคคล ทั้งนี้ หากไม่มีการระบุจำนวนสมาชิกในการยื่นขอจดทะเบียนให้ใช้ข้อมูลในวันที่จัดตั้งกองทุนฯ ดังนี้ (1) จำนวน 50-150 คน เพิ่มทุน 200,000 บาท (2) จำนวน 151-350 คน เพิ่มทุน 400,000 บาท และ (3) จำนวน 351 คนขึ้นไป เพิ่มทุน 600,000 บาท นอกจากนี้ จะดำเนินการขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้จาก 1 ปี เป็นไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามการพิจารณาของกองทุนฯ แต่ละแห่ง

1.2.2 โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชน และรองรับความต้องการเงินทุนในการประกอบอาชีพ หรือการทำวิสาหกิจชุมชน รวมทั้ง เพื่อลดการกู้ยืมเงินนอกระบบมาชำระคืนแก่กองทุนฯ สำหรับกรณีผู้กู้ยืมซึ่งประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี

1.2.3 ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ สมาชิกกองทุนฯ สามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้น จำนวน 977,960 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.40 ของสมาชิกทั้งหมด (จำนวน 10,409,031 คน) และการลดการกู้ยืมเงินนอกระบบของประชาชน รวมทั้ง เพิ่มโอกาสการเข้าสู่แหล่งเงินทุนของชุมชนเพื่อการลงทุนและสร้างรายได้

1.3 ความก้าวหน้าการดำเนินการ

1.3.1 คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้อนุมัติจัดสรรโอนเงินเพิ่มทุน แล้ว 3 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 57,784 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 80.12 ของกองทุนที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว (72,125 กองทุน) วงเงิน 13,772.2 ล้านบาท ดังนี้ (1) ครั้งที่ 1 เดือนธันวาคม 2552 จำนวน 35,881 กองทุน วงเงิน 8,695.8 ล้านบาท (2) ครั้งที่ 2 เดือน มกราคม 2553 จำนวน 11,968 กองทุน วงเงิน 2,797.0 ล้านบาท และ (3) ครั้งที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 จำนวน 9,935 กองทุน วงเงิน 2,279.4 ล้านบาท และคาดว่าจะดำเนินการจัดสรรอีก 2 ครั้ง ในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2553

1.3.2 ขณะนี้ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ได้อนุมัติโครงการติดตามประเมินผลการดำเนินงานการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้าน วงเงิน 3 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ (1) การติดตาม สนับสนุนกองทุนที่ยังไม่สามารถจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและขอเพิ่มทุนได้ วงเงิน 1 ล้านบาท และ (2) การประเมินผลการเพิ่มทุน วงเงิน 2 ล้านบาท โดยจัดจ้างสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือเพื่อดำเนินงานดังกล่าว

1.4 ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงาน โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองประสบปัญหาในการดำเนินงาน ดังนี้ 1) กองทุนไม่สามารถจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้หรือประสบปัญหาการบริหารจัดการ ประมาณ 5,000 กองทุน เนื่องจากปัญหาเงินขาดบัญชี และหนี้ค้างชำระ เป็นต้น และ 2) สภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าไปให้การสนับสนุนของเจ้าหน้าที่ในการเพิ่มทุน ได้แก่ ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา และในพื้นที่เกาะ หมู่บ้านชายแดน และพื้นที่ห่างไกลใน 11 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ตาก สตูล ตรัง กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี

1.5 ความเห็นของคณะกรรมการฯ

1.5.1 การดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาหนี้ค้างชำระของกองทุนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในทางปฏิบัติยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องผู้รับผิดชอบในการอนุมัติเงินและการติดตามหนี้ค้างชำระ ทำให้มีปัญหาในเรื่องการจดทะเบียนนิติบุคคลของกองทุนหมู่บ้านและชุมนเมือง ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบโครงการควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวและปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการกองทุน เพื่อให้การดำเนินโครงการสามารถเป็นแหล่งเงินในการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่โครงการได้อย่างยั่งยืนต่อไป

  • สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองควรพิจารณากำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการทั้งในเชิงปริมาณ และในเชิงคุณภาพเพื่อใช้ในการติดตามประเมินผลโครงการ เช่น การกู้เงินไปใช้ในกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม การลดจำนวนหนี้นอกระบบ รวมทั้งควรประสานเครือข่ายในระดับพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการกองทุนฯ และการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่หมู่บ้านในการใช้ประโยชน์จากกองทุนฯ

2. การติดตามประเมินผลกภาคสนามโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 คณะกรรมการฯ ได้พิจารณารายละเอียดแนวทางการติดตามประเมินผลภาคสนามโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งในขั้นแรกจะติดตามประเมินผลใน 5 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการประกันรายได้เกษตรกร 2) โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3) โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น 4) โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และ 5) โครงการเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยมีแนวทางการติดตามประเมินผล ดังนี้

2.1 โครงการประกันรายได้ พิจารณาจากรายได้ที่เกษตรกรได้รับจากโครงการว่าพอเพียงหรือไม่ โดยใช้ค่าเฉลี่ยของรายได้ของครัวเรือน และต้นทุนการผลิต ประเมินผลสำเร็จของโครงการที่มีต่อการกระจายรายได้ และผลกระทบที่มีต่อกลไกการตลาด เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร

2.2 โครงการการจัดการทรัพยากรน้ำ จะประเมินการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านต่าง ๆ ได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยพิจารณาจากงบประมาณที่เบิกจ่ายจริงกับที่ได้รับอนุมัติการเพิ่มการจ้างงานโดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายการจ้างงานในแผนการดำเนินโครงการ รวมทั้งการกระจายการลงทุนทั้งในแง่จำนวนพื้นที่ จำนวนครัวเรือนที่รับประโยชน์

2.3 โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น โดยจะประเมินเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังโครงการ ได้แก่ ผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน การอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และขนส่งและประเมินความพึงพอใจของประชาชนต่อ โครงการ

2.4 โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยพิจารณาจากการลดลงของหนี้นอกระบบของสมาชิกกองทุนฯ

2.5 โครงการเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประเมินผลการเพิ่มขึ้นของปริมาณสินเชื่อ ทั้งปริมาณและประเภทของการขยายสินเชื่อ

ทั้งนี้ จะดำเนินการคัดเลือกโครงการตัวอย่างที่ดำเนินการเสร็จแล้วในสัดส่วนร้อยละ 10 จากแต่ละภาคทั่วประเทศ และนำตัวชี้วัดของแต่ละโครงการมาใช้ในการออกแบบสอบถามและจัดทีมสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายโดยการสำรวจภาคสนาม ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอรายงานสรุปภาพรวมการติดตามประเมินผลโครงการต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาได้ภายในเดือนเมษายน 2553

3. ความเห็นเพิ่มเติมของคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับแนวทางการประเมินผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 2552/2553 ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 คณะกรรมการฯ มีความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการประเมินผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 2552/2553 เปรียบเทียบกับการดำเนินโครงการรับจำนำฯ ดังนี้

3.1 ด้านการคำนวณต้นทุนโครงการฯ

3.1.1 ควรนำค่าใช้จ่ายด้านแรงงานมาใช้ประกอบการคำนวณต้นทุนการผลิตต่อไร่นอกเหนือจากค่าเช่าที่ดิน ค่าวัสดุ และค่าเสื่อมอุปกรณ์/ดอกเบี้ย เพื่อให้การคำนวณต้นทุนครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

3.1.2 ในการคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายในโครงการรับจำนำฯ ควรนำค่าเสื่อมราคาของข้าวที่เก็บรักษาในคลังสินค้าและค่าดูแลคลังสินค้า มาใช้ประกอบการคำนวณค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรับจำนำฯ ด้วย

3.2 ด้านการคำนวณผลประโยชน์ของโครงการ

3.2.1 ควรพิจารณาผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้ และการชำระคืนหนี้สินของเกษตรกรภายหลังการเข้าร่วมโครงการ นอกเหนือจากจำนวนเงินชดเชยที่เกษตรกรได้รับจากการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกร

3.2.2 ควรพิจารณาผลประโยชน์ของโครงการในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพกลไกตลาดจากการเพิ่มขึ้น/ลดลงของปริมาณข้าวจากการแทรกแซงตลาดรับซื้อ

3.3 ด้านอื่น ๆ

3.1.3 ควรใช้แหล่งข้อมูลที่ทันสมัยจาก ธ.ก.ส. ในการประเมินผลการดำเนินโครงการ

3.1.2 ควรพิจารณาเปรียบเทียบสัดส่วนการเพิ่มขึ้น/ลดลงของเกษตรกรที่ยื่นจดทะเบียนโครงการประกันรายได้เกษตรกรโดยไม่มีเอกสารสิทธิในรอบที่ 2 กับรอบที่ 1 เพื่อป้องกันปัญหาการบุกรุกที่ดิน

4. สรุปมติคณะกรรมการฯ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการประเมินผลโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในขั้นแรก 5 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการประกันรายได้เกษตรกร 2) โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3) โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น 4) โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และ 5) โครงการเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สำหรับการประเมินผลโครงการประกันรายได้เกษตรกร มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ดังนี้

4.1 นำค่าใช้จ่ายด้านแรงงานมาใช้ประกอบการคำนวณต้นทุนการผลิตต่อไร่ นอกเหนือจากค่าเช่าที่ดิน ค่าวัสดุ และค่าเสื่อมอุปกรณ์/ดอกเบี้ย เพื่อให้การคำนวณต้นทุนครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

4.2 ในการคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายในโครงการรับจำนำฯ ให้นำค่าเสื่อมราคาของข้าวที่เก็บรักษาในคลังสินค้าและค่าดูแลคลังสินค้า มาใช้ประกอบการคำนวณค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรับจำนำฯ ด้วย

4.3 พิจารณาผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้ และการชำระคืนหนี้สินของเกษตรกรภายหลังการเข้าร่วมโครงการ นอกเหนือจากจำนวนเงินชดเชยที่เกษตรกรได้รับจากการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกร

4.4 พิจารณาผลประโยชน์ของโครงการในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพกลไกตลาดจากการเพิ่มขึ้น / ลดลงของปริมาณข้าวจากการแทรกแซงตลาดรับซื้อ

4.5 ใช้แหล่งข้อมูลที่ทันสมัยจาก ธ.ก.ส. ในการประเมินผลการดำเนินโครงการ

4.6 พิจารณาเปรียบเทียบสัดส่วนการเพิ่มขึ้น/ลดลงของเกษตรกรที่ยื่นจดทะเบียนโครงการประกันรายได้เกษตรกรโดยไม่มีเอกสารสิทธิในรอบที่ 2 กับรอบที่ 1 เพื่อป้องกันปัญหาการบุกรุกที่ดิน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ