คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ รศก. ครั้งที่ 5/2553
2. เห็นชอบแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม วงเงินรวม 195,820.50 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ พิจารณาจัดสรรแหล่งเงินที่เหมาะสม สำกรับการดำเนินการต่อไป ดังนี้
2.1 แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย วงเงินลงทุนรวม 176,808.28 ล้านบาท ประกอบด้วย
1) แผนงานหรือโครงการที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที จำนวน 11 รายการ วงเงินลงทุน รวม 87,529 ล้านบาท โดยแยกเป็นส่วนที่รัฐรับภาระการลงทุน วงเงินรวม 84,024 ล้านบาท และ การรถไฟแห่งประเทศไทยรับภาระการลงทุน วงเงินลงทุน รวม 3,505 ล้านบาท
2) โครงการที่จะต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นรายโครงการ จำนวน 10 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 89,279 ล้านบาท ประกอบด้วย ส่วนที่รัฐรับภาระการลงทุน วงเงินรวม 68,310 ล้านบาท และ การรถไฟแห่งประเทศไทยรับภาระการลงทุน วงเงินลงทุนรวม 20,969 ล้านบาท
2.2 การก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จำนวน 114 แห่ง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559 ของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท วงเงินลงทุน 19,012.50 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายโครงการทั้งหมด และให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการปรับแผนการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
3. เห็นชอบแนวทางการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 3 หน่วยธุรกิจภายใน และ 1 บริษัทลูก ได้แก่ หน่วยธุรกิจการเดินรถ หน่วยธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน หน่วยธุรกิจการซ่อมบำรุง บริษัทดำเนินโครงการ Airport Rail Link โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยถือหุ้นทั้งหมด รวมทั้งการปรับโครงสร้างหน่วยงานส่วนกลาง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
4. เห็นควรให้กระทรวงคมนาคม และรฟท. นำความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการ รศก.เรื่องแนวทางการพัฒนาโครงข่ายรถไฟเส้นทางสายใหม่ ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งให้กระทรวงการคลัง เร่งพิจารณารูปแบบการลงทุนโครงการการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพ — ระยอง ในลักษณะ PPP ที่มีความเหมาะสมตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. เห็นชอบในหลักการมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ และพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ดังนี้
5.1 มาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง มอบหมายกระทรวงการคลังพิจารณากำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในรายละเอียด ดังนี้ (1) มาตรการชะลอกระแสเงินสดจ่ายออกของผู้ประกอบการ อาทิ การขยายระยะเวลาการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ค่าสาธารณูปโภค เงินนำเข้าประกันสังคม และเงินกองทุนทดแทนแรงงาน และ (2) มาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยจัดหาเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการสนับสนุนวงเงินบัตรเครดิต โดยการลดหย่อนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ และลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต รวมทั้ง การเพิ่มวงเงินบัตรเครดิต และบัตรเงินสดแก่ร้านค้าที่มีประวัติดีมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับไปพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป
5.2 มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือพนักงานและลูกจ้างที่ถูกปลดออกจากงานระหว่างการชุมนุม มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ประธานผู้แทนการค้าไทย (นายเกียรติ สิทธีอมร) และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นางอัญชลี เทพบุตร) ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนพนักงานและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เพื่อให้ทราบข้อมูลจำนวนผู้ถูกเลิกจ้าง และกรอบวงเงินในการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถให้ความช่วยเหลือได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2553
5.3 มาตรการช่วยเหลือผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ของกิจการ มอบหมายให้ประธานผู้แทนการค้าไทย (นายเกียรติ สิทธีอมร) และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นางอัญชลี เทพบุตร) ประสานกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อตรวจสอบจำนวนผู้เช่าพื้นที่รายย่อยที่ชัดเจน รวมทั้ง ประสานสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือในเรื่องการลดภาระค่าเช่าของผู้ประกอบการรายย่อยที่เช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้าที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการรายใดให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ก่อการร้าย ทางภาครัฐจะยกเลิกการให้ความช่วยเหลือทั้งหมด และจะดำเนินคดีกับผู้ประกอบการดังกล่าวต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2553--จบ--