สรุปรายงานสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนมีนาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 28, 2010 15:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปรายงานสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนมีนาคม 2553 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอดังนี้

ตามที่กระทรวงคมนาคมได้รายงานสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่ง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ตามโครงการ “2553 ปีแห่งความปลอดภัย” ให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้วนั้น กระทรวงคมนาคมขอรายงานสรุปสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนมีนาคม 2553 โดยเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุแยกในภาคการขนส่งประจำเดือนมีนาคม 2552 สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2553 กับเดือนมีนาคม 2553 การเปรียบเทียบสถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนระหว่างปี พ.ศ. 2552 กับ 2553 และความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน ดังนี้

1. สถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนมีนาคม 2553 โดยเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุแยกในภาคการขนส่งประจำเดือนมีนาคม 2552

                   อุบัติเหตุที่รับรายงาน(ครั้ง)            ผู้บาดเจ็บ (ราย)               ผู้เสียชีวิต (ราย)
สาขาการขนส่ง     มี.ค.52  มี.ค.53  เปรียบเทียบ   มี.ค.52  มี.ค.53   เปรียบเทียบ   มี.ค.52  มี.ค.53  เปรียบเทียบ
ถนน                966     491    -49.20%      757     424     -44.00%      107      88    -17.80%
จุดตัดรถไฟกับถนน        9      14     55.56%       10      19      90.00%        2       5    150.00%
ทางน้ำ                3       3         0%        7       0    -100.00%        0       0          -
ทางอากาศ             0       0          -        0       0           -        0       0          -
รวม                978     508    -48.06%      774     443     -42.76%      109      93    -14.68%

หมายเหตุ : 1. ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม และระบบ TRAMS ณ วันที่ 2 เมษายน 2553 เวลา 09.00 น.

2. ตัวเลข -100 % หมายถึง ไม่มีความสูญเสียเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีฐาน

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากภาคการขนส่งในความรับผิดชอบ เปรียบเทียบในช่วงเดือนมีนาคมของปี 2552 กับปี 2553 พบว่า ในภาพรวมของทุกสาขาการขนส่งมีจำนวนครั้งของสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงเฉลี่ยร้อยละ 48.06 จำนวนผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 42.76 และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 14.68 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต้องลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากความรุนแรงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2552 พบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนยังคงสร้างความสูญเสียอย่างร้ายแรง ซึ่งจากสถิติข้างต้น อุบัติเหตุทางถนน เดือนมีนาคมปี 2553 พบว่า เกิดขึ้นสูงถึงร้อยละ 96.66 เมื่อเทียบกับการขนส่งระบบอื่น มีผู้บาดเจ็บร้อยละ 95.71 และมีผู้เสียชีวิตร้อยละ 94.62 โดยการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเดือนมีนาคม 2553 มีจำนวนครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเทียบกับเดือนมีนาคม 2552 โดยเส้นทางตรงยังคงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจรและไม่ปลอดภัย ได้แก่ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด และการตัดหน้ากระชั้นชิดยังคงเป็นมูลเหตุสันนิษฐานสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ มูลเหตุสันนิษฐานทั้ง 2 ประเด็นข้างต้นมีสถิติที่ลดลงร้อยละ 48.50 และร้อยละ 58.70 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2552 นอกจากนี้ ประเภทรถที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญ ได้แก่ รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์

2. สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2553 กับเดือนมีนาคม 2553

ข้อมูลอุบัติเหตุ               ก.พ.53      มีค.53      รวม (ก.พ.-มี.ค.53)
อุบัติเหตุ (ครั้ง)              796         491             1,287
                                   (-38.3 %)
ผู้เสียชีวิต (ราย)             145          88               233
                                   (-39.3 %)
ผู้บาดเจ็บ (ราย)             643         424             1,067
                                   (-34.1 %)

สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ — มีนาคม 2553 เกิดอุบัติเหตุรวม 1,287 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 233 ราย และผู้บาดเจ็บ 1,067 ราย โดยในเดือนมีนาคม จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้บาดเจ็บ มีจำนวนลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ร้อยละ 38.3 , 39.3 และ 34.1 ตามลำดับ

3. การเปรียบเทียบสถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนระหว่างปี พ.ศ. 2552 กับ พ.ศ. 2553

3.1 ตารางเปรียบเทียบสถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนในเดือนเดียวกัน

ข้อมูล            ม.ค.   ม.ค.     เปรียบเทียบ   ก.พ.  ก.พ.     เปรียบเทียบ  มี.ค.  มี.ค.      เปรียบเทียบ
อุบัติเหตุ            52     53        ม.ค.53     52    53        ก.พ.53    52    53         มี.ค.53
                                    กับ 52                      กับ 52                      กับ 52
อุบัติเหตุ (ครั้ง)   1,435  1,296  -139 (-9.7%)    933   796  -137(-14.7%)   966   491   -475(-49.2%)
ผู้เสียชีวิต (ราย)    222    183   -39(-17.6%)    109   145    +36+33.0%)   107    88     -19(-17.8)
ผู้บาดเจ็บ (ราย)  1,521  1,376   -145(-9.5%)    688   643    -45(-6.5%)   757   424     -333(-44%)

3.2 ตารางเปรียบเทียบสถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนรายไตรมาส

ข้อมูลอุบัติเหตุ                  ม.ค.-มี.ค.2552     ม.ค.-มี.ค.2553        เปรียบเทียบ
อุบัติเหตุ (ครั้ง)                        3,334             2,583    -751 (-22.5%)
ผู้เสียชีวิต (ราย)                         438               416      -22 (-5.0%)
ผู้บาดเจ็บ (ราย)                       2,966             2,443    -523 (-17.6%)

จากสถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนรายไตรมาส (เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม) เปรียบเทียบปี พ.ศ. 2552 กับ 2553 พบว่าในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2553 ทั้งจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ลดลงจากไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2552 โดยในปี พ.ศ. 2552 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุรวม 3,334 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 438 คน และมีผู้บาดเจ็บ 2,966 คน ส่วนในปี พ.ศ. 2553 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุรวม 2,583 ครั้ง (-22.5%) มีผู้เสียชีวิต 416 คน (-5.0%) และมีผู้บาดเจ็บ 2,443 คน (-17.6%)

4. ความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน

กระทรวงคมนาคมขอรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการ ดังนี้

4.1 การตรวจสอบพฤติกรรมความพร้อมของผู้ขับขี่ไม่ให้เมาสุรา (แอลกอฮอล์เป็นศูนย์) กรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับรถสาธารณะ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ได้ดำเนินการตรวจผู้ขับรถสาธารณะจำนวน 207,715 ราย พบว่ามีผู้ขับรถสาธารณะที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดจำนวน 11 ราย และในเดือนมีนาคม 2553 ในเบื้องต้นได้รับรายงานผลการตรวจผู้ขับรถสาธารณะจำนวน 106,914 ราย พบว่ามีผู้ขับรถสาธารณะที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดจำนวน 2 ราย ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการลงโทษผู้ฝ่าฝืนทั้งการห้ามขับ และส่งดำเนินคดี

4.2 การปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย และโค้งอันตราย กรมทางหลวงชนบทมีความก้าวหน้าในการดำเนินการ ดังนี้

1) แก้ไข/ปรับปรุงจุดอันตรายบริเวณทางโค้งบนทางหลวงชนบท แล้วเสร็จจำนวน 54 แห่ง

2) ยกระดับความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงอันตรายหรือจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งแล้วเสร็จจำนวน 87 แห่ง

5. ข้อเสนอเพื่อการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน

จากผลการวิเคราะห์ข้างต้น กระทรวงคมนาคมจะได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้

5.1 เร่งรัดการปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางตรงซึ่งยังคงเกิดอุบัติเหตุในสัดส่วนที่มากกว่าบริเวณอื่น

5.2 เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบก เช่น การควบคุมความเร็วของรถไม่ให้เกินอัตราที่กำหนด การกวดขันการใช้งานรถผิดประเภท เช่น การบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากท้ายรถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง จึงจำเป็นจะต้องเพิ่มความเข้มงวดทั้งการตั้งจุดตรวจระหว่างทาง และการห้ามใช้เส้นทางพิเศษ เป็นต้น

5.3 เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบพฤติกรรมความพร้อมของผู้ขับขี่ไม่ให้เมาสุรา/ยาบ้า/ความอ่อนเพลีย เมื่อยล้า

5.4 รณรงค์ให้ผู้ขับขี่ตรวจสภาพความพร้อมของรถก่อนขับขี่ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับขี่ทางไกล

5.5 ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้บริการศูนย์บริการทางหลวง สถานีบริการ เมื่อขับขี่เป็นระยะเวลานาน 3-4 ชั่วโมงแล้ว เพื่อป้องกันการง่วงอ่อนเพลียขณะขับขี่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

5.6 เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินมาตรการตามแผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัย เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 ทั้งในด้านการให้บริการจุดพักรถ (Rest Area) การปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย โค้งอันตราย การตรวจสอบพฤติกรรมความพร้อมของผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะและการตรวจจับความเร็ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ