ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 6, 2010 11:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเสนอ

ข้อเท็จจริง

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเสนอว่า

1. โดยที่การชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวนถือเป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลในประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย สำหรับประเทศไทยนั้น การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (The UN International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ข้อ 21 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีด้วย

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพดังกล่าวก็อาจถูกจำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสามารถของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะออกใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อมีการชุมนุมประท้วง ผู้ใช้สิทธิในการชุมนุมก็อาจกระทำการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่สามได้ และในทางปฏิบัติ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องนำกฎหมายอื่นที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์และมาตรการที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้ดำเนินการกับการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะมาใช้บังคับโดยอนุโลม และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายหรือการสั่งการของผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความจำเป็นต้องยุติหรือสลายการชุมนุม อันอาจจะเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็อาจถูกดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงและถูกดำเนินคดีอาญาได้

โดยเหตุนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแล และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม ทำหน้าที่จัดสรรการใช้พื้นที่สาธารณะ และกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไขการยุติหรือการสลายการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกำหนดขอบเขตการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชน รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไปที่ถูกกระทบอันเนื่องมาจากการชุมนุมดังกล่าวตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้

2. คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อพิจารณาแนวทางในการตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แล้วรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพิจารณาต่อไป

3. คณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะได้พิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะที่ได้มีการดำเนินการยกร่างผ่านมาแล้วจำนวน 5 ฉบับ ประกอบกับเอกสารทางวิชาการ คำพิพากษาของศาล และกฎหมายของต่างประเทศ

4. คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้พิจารณาโดยใช้ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... เป็นฉบับหลัก และได้นำข้อเท็จจริงตามข้อ 3 มาพิจารณาประกอบด้วย โดยคำนึงถึงประโยชน์ได้เสีย และสิทธิเสรีภาพของฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามฝ่ายประกอบกัน ได้แก่ สิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมในที่สาธารณะตามรัฐธรรมนูญ ประโยชน์สาธารณะ และความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของบ้านเมือง และสิทธิเสรีภาพของบุคคลผู้ได้รับผลร้ายจากการชุมนุมในที่สาธารณะ ทั้งนี้ ได้นำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ ดังกล่าวไปร่วมรับฟังในเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขทบทวนร่างพระราชบัญญัติตามมติ คณะรัฐมนตรี (6 ตุลาคม 2552) แล้ว

5. ในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ครั้งที่ 1/2553 วันที่ 29 มกราคม 2553 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะและการประชุมครั้งที่ 2/2553 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ประชุมเห็นสมควรผลักดันให้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะโดยเร็ว จึงได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. เหตุผลและความจำเป็นในการตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ

2. บททั่วไป

3. ขอบเขตของกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ

4. คำนิยาม

5. บทกำหนดความรับผิดชอบ หน้าที่ และข้อปฏิบัติของผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ผู้นำการชุมนุมสาธารณะและผู้ร่วมการชุมนุมสาธารณะ

6. บทกำหนดอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และข้อปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่

7. การอุทธรณ์

8. บทกำหนดโทษ

9. การดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ