ร่างยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552 — 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 6, 2010 11:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552 — 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเสนอ

ข้อเท็จจริง

1. กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552 — 2556 ตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแล้ว

2. สาระที่สำคัญของร่างยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552 — 2556 มีดังนี้

2.1 บทนำเกี่ยวกับความสำคัญและสถานการณ์ยางพารา ผลการดำเนินงานของภาครัฐ เอกชนและองค์กรยางระหว่างประเทศในการพัฒนายางพาราที่ผ่านมา การประเมินสถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงยางพาราโดยพิจารณาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก ภาวะโลกร้อน การวิเคราะห์สถานการณ์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัดของการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ

2.2 แนวคิดและหลักการในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทำให้เกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบการ พึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสามารถเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติของไทยและแข่งขันในการดำเนินธุรกิจกับต่างประเทศได้ และภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.3 ทิศทางการพัฒนายางพารา ไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อหน่วยพื้นที่ ลดสัดส่วนการส่งออกยางที่เป็นวัตถุดิบ ส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขยายตลาดผลิตภัณฑ์ยางทั้งในและต่างประเทศ

2.4 วัตถุประสงค์

(1) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตยางพารา สนับสนุนการผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบการตลาด

(2) สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาง สนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ยางไทยมีคุณภาพ และพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางของภูมิภาค

(3) สนับสนุนให้มีการเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติโดยการแปรรูป และนำยางธรรมชาติมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ยางและเพิ่มการส่งออก

(4) เกษตรกรที่ทำสวนยางสามารถเลี้ยงตัวเองและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีสวัสดิการสังคมเช่นเดียวกับผู้ใช้แรงงานหรือพนักงานบริษัททั่วไป ในขณะที่ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาตนเองและแข่งขันกับผู้ผลิตต่างประเทศได้

(5) เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิตภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะดวก หรือภายใต้การตลาดแบบสมัครใจ

2.5 เป้าหมาย

(1) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราในประเทศต่อหน่วยพื้นที่ ไปอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือเฉลี่ยทั้งประเทศจาก 278 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ในปี 2551 เป็น 306 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ในปี 2556 หรือทำให้ผลผลิตโดยรวมของประเทศเพิ่มจาก 3.09 ล้านตัน ในปี 2551 เป็น 3.40 ล้านตัน ในปี 2556

(2) เพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติในประเทศ ขึ้นอีกร้อยละ 46 กล่าวคือเพิ่มปริมาณการใช้จาก 397,495 ตัน ในปี 2551 เป็น 580,000 ตัน ในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.87 เป็นร้อยละ 17.00 ของผลผลิตในปีเดียวกัน

(3) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติมากขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางจาก 178,935 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 230,000 ล้านบาท ในปี 2556

(4) เกษตรกรมีรายได้จากการทำสวนยางไม่น้อยกว่าปีละ 15,000 บาทต่อไร่ และเกษตรกรที่ปลูกใหม่มีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต

(5) เกษตรกรชาวสวนยางหรือคนกรีดยางมีสวัสดิการสังคม

2.6 ร่างยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552 -2556 มีกลยุทธ์หลักในการดำเนินการ โดย แต่ละกลยุทธ์มีเป้าประสงค์ แนวทาง/มาตรการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบดำเนินการของแต่ละกลยุทธ์ สำหรับกลยุทธ์พัฒนายางพารา ประกอบด้วย 8 กลยุทธ์หลักดังนี้ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพยางที่เป็นวัตถุดิบ (2) การพัฒนาระบบตลาดยางในประเทศและต่างประเทศ (3) การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมแปรรูปยาง ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา (4) การปรับปรุงระบบบริหารจัดการภาครัฐ (5) ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (6) การสนับสนุนการวิจัย (7) เสริมรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง (8) การพัฒนาบุคลากร

3. การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อน ติดตามประเมินผล และภารกิจเร่งด่วน เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง ยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552 -2556 แล้ว คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ วางระบบการประสานงาน กำกับดูแล เร่งรัดการดำเนินงานและกำหนดกรอบในการติดตามประเมินผล โดยการ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ละหน่วยงานจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณประจำปีตามแผนงาน/โครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ รวมทั้งดำเนินการภารกิจเร่งด่วน สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยการรายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติเป็นระยะ ๆ การเร่งรัดดำเนินการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกร กำหนดแผนรองรับความผันผวนของราคายาง เร่งรัดการสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ยางที่ผลิตได้ในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ