เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย
และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน พ.ศ. .... เสร็จเรียบร้อยแล้ว สรุปผลการพิจารณาได้ดังนี้
1. แก้ไขชื่อร่างกฎกระทรวงเป็น “ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....”
2. เนื้อหาของร่างกฎกระทรวงตามข้อ 1. บางส่วนมีความซ้ำซ้อนกับกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 จึงนำเนื้อหาเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานไปกำหนดเพิ่มเป็นหมวด 1/1 ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน (ร่างข้อ 22/1 ถึงร่างข้อ 22/4) ในกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 เพื่อให้เนื้อหามีความชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อการใช้บังคับกฎกระทรวงดังกล่าว
3. เพิ่มเติมบทอาศัยอำนาจ โดยระบุวรรคหนึ่งของมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้ชัดเจน และเพิ่มเติมบทบัญญัติจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
4. ตัดร่างเดิมข้อ 2 (ขอบเขตการบังคับใช้ร่างกฎกระทรวง) ร่างเดิมข้อ 7 (การให้มีผู้แทนลูกจ้างร่วมในการจัดทำนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน) ร่างเดิมข้อ 10 (การฝึกอบรมให้ความรู้แก่ลูกจ้างและการประเมินผลการฝึกอบรมลูกจ้าง) ร่างเดิมข้อ 11 (การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน) และร่างเดิมข้อ 17 (การจัดทำข้อกำหนดด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ผู้รับเหมาปฏิบัติ) ออก เนื่องจาก ซ้ำซ้อนกับกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549
5. แก้ไขเพิ่มเติมร่างเดิมข้อ 4 (กำหนดระยะเวลาให้สถานประกอบกิจการดำเนินการจัดให้มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน) และร่างเดิมข้อ 5 (รายละเอียดระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน) โดยกำหนดให้การจัดทำระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานตามวรรคหนึ่ง เป็นไปตามระยะเวลา หลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด เพื่อให้นายจ้างมีกรอบระยะเวลาและแนวทางที่ชัดเจนในการจัดทำระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน
6. แก้ไขเพิ่มเติมร่างเดิมข้อ 9 (หน้าที่ของนายจ้างและผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร) โดยกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน และกำหนดให้กรณีที่ผู้แทนนายจ้างระดับบริหารเป็นผู้ดำเนินการแทนต้องรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวต่อนายจ้างด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เนื้อหามีความชัดเจนและสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ
7. แก้ไขเพิ่มเติมร่างเดิมข้อ 12 (การจัดทำเอกสารระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน) โดยกำหนดให้นายจ้างจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน เก็บไว้ในสถานประกอบกิจการเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันที่จัดทำ และพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบ เพื่อให้เนื้อหามีความชัดเจน และตัดความตอนท้ายเกี่ยวกับการควบคุม การจัดเก็บ การค้นหา การทบทวน และการปรับปรุง ตลอดจนการทำลายเอกสารออก เนื่องจากเป็นรายละเอียดซึ่งควรกำหนดไว้ในหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
8. แก้ไขเพิ่มเติมบันทึกหลักการและเหตุผล และถ้อยคำในร่างกฎกระทรวงให้เหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ร่างข้อ 1)
2. กำหนดให้เพิ่มความข้อ 22/1 ข้อ 22/2 ข้อ 22/3 และข้อ 22/4 เป็นหมวด 1/1 ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 (ร่างข้อ 2)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 พฤษภาคม 2553--จบ--