การประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 6, 2010 14:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง เสนอ

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ดังนี้

1.1 การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง (คปอล.) เพิ่มเติม โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพิ่มเติม และนำเสนอประธานกรรมการอำนวยการฯ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามต่อไป

1.2 รายงานสถานการณ์ภัยแล้งและผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร และกระทรวงแรงงานได้ให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน ได้แก่ การแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค การขุดเจาะบ่อบาดาล ซ่อมสร้าง / ทำนบฝายชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ซ่อมแซมระบบประปา การทำฝนเทียมให้แก่จังหวัดที่มีการร้องขอ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด การรณรงค์ให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรัง ครั้งที่ 2 การให้ความช่วยเหลือตามโครงการการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รวมทั้งได้จัดทำแผนงาน/โครงการต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาวด้วย

1.3 รายงานผลการตรวจติดตามการดำเนินการประชาสัมพันธ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีข้อค้นพบ คือ จังหวัดต่างๆ ประสบปัญหาความล่าช้าในการใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งประจำปี 2553 โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่ง รายละเอียดเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือพร้อมสำเนารายงานการประชุม ก.ช.ภ.จ. และ / หรือคณะกรรมการให้ความ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับทราบจึงจะดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่า ควรมีการลดขั้นตอนของราชการที่ไม่จำเป็นและเป็นปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาทบทวนกรณีการกำหนดแนวทางปฏิบัติดังกล่าวข้างต้นด้วย

1.4 หลักเกณฑ์การเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในการประชุม คปล. ครั้งที่ 1 / 2553 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ได้มีการพิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์การเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.4.1 พื้นที่การให้ความช่วยเหลือจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่เกิดภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินและเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ประกาศเป็นภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

1.4.2 การให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนต้องเป็นกรณีที่มีความเร่งด่วน ฉุกเฉิน หรือจำเป็น

1.4.3 โครงการ/กิจกรรมที่จะดำเนินการต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ช.ภ.จ. แล้วระยะเวลาดำเนินโครงการ/กิจกรรมควรแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2553 (30 กันยายน 2553)

1.4.4 ต้องสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่หรือภารกิจของหน่วยงานโดยไม่เกิดความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น

ในการนี้ ที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้เหมาะสมอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นหลักเกณฑ์กลางให้หน่วยงานต่างๆ ได้ถือปฏิบัติต่อไป ซึ่งกรมบัญชีกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าหลักเกณฑ์ข้างต้นมีความเหมาะสมแล้ว ประกอบกับมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการและงบประมาณการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นประธาน พิจารณากลั่นกรองการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ

1.5 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนการปฏิบัติงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและภัยแล้ง ได้แก่ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการ และงบประมาณการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และ/หรือภัยแล้ง โดยมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นประธานอนุกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และ/หรือภัยแล้ง โดยมีหัวหน้า ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุกรรมการ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณามอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการและงบประมาณพิจารณาแผนงาน/โครงการที่หน่วยงานต่างๆ ได้เสนอขอรับการสนับสนุน ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานที่เสนอโครงการ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 5 แผนงาน / โครงการ เป็นเงิน 1,419.0360 ล้านบาท และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขออนุมัติโครงการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน โดยการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อบรรเทาภัยแล้งปี 2553 จำนวน 555.9800 ล้านบาท

2. อนุมัติในหลักการให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบของพายุกิสนา และอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2552 ภายในวงเงิน 5,682.6174 ล้านบาท ตามเหตุผลและความจำเป็นที่คณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเสนอ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ