ร่างกฎบัตรสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 6, 2010 15:53 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎบัตรสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย [การเปลี่ยนสถานะของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

เป็นองค์การระหว่างประเทศ]

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างกฎบัตรสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ฉบับใหม่

2. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการเกี่ยวกับการรับรองร่างกฎบัตรฯ (adoption) และจัดให้มีการลงนามร่างกฎบัตรฯ (signature) โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในนามรัฐบาลไทยเพื่อ เข้าเป็นสมาชิกก่อตั้ง AIT รวมทั้งดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการต่างประเทศเสนอว่า

1. การที่ AIT มิได้มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ความสามารถในการขยายขอบเขตการขอรับการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการศึกษาระดับสูง การวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนช่วยเหลือด้านการเงินและด้านอื่น ๆ จึงประสงค์จะขอเปลี่ยนสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ

2. กระทรวงการต่างประเทศและ Board of Trustees (BOT) ของ AIT ได้จัดตั้งคณะทำงานแก้ไขร่างกฎบัตรสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เพื่อเปลี่ยนสถานะ AIT ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศและเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ประชุมคณะทำงานได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎบัตรฯ ฉบับใหม่ โดย AIT ได้ขอให้ประเทศไทยพิจารณาลงนาม ร่างกฎบัตรฯ ฉบับใหม่ดังกล่าวเพื่อร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง AIT

3. การเปลี่ยนสถานะของ AIT ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศและการที่ไทยจะพิจารณารับรองและลงนามร่างกฎบัตรฯ ฉบับใหม่เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง AIT จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของ AIT และจะทำให้ AIT มีช่องทางการติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ รวมทั้งสามารถขอรับการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการศึกษาระดับสูง การวิจัย และการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาได้มากขึ้น อีกทั้งช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในการเป็นศูนย์กลางขององค์การระหว่างประเทศและการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาระดับสูงในภูมิภาค นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยัง สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดบทบาทของ AIT เพื่อให้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนงานของไทย สำหรับพันธกรณีด้านการเงินนั้น โดยที่ข้อ 11 วรรคหนึ่งของร่างกฎบัตรฯ กำหนดให้สมาชิกพยายามสนับสนุน AIT ในรูปของเงิน สิ่งของ หรือการบริการบนพื้นฐานของความสมัครใจ ฉะนั้น การเข้าเป็นสมาชิก AIT จึงไม่มีพันธกรณีในการชำระค่าบำรุงประจำปี นอกจากการบริจาคโดยสมัครใจ

4. ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามมาตรา 190 วรรคสาม และวรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยการนำเรื่องนี้ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศและในหนังสือพิมพ์เพื่อให้ประชาชนได้ทราบและแสดงความคิดเห็น และเชิญประชุมหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดไม่มีข้อขัดข้องเกี่ยวกับสารัตถะของร่างกฎบัตรฯ และการเข้าเป็นสมาชิก AIT ของไทย รวมทั้งได้ส่งร่างกฎบัตรฯ ให้ประเทศและองค์การระหว่างประเทศซึ่งเป็นสมาชิก Board of Trustees ของ AIT พิจารณา ซึ่งในชั้นนี้ บังคลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา สาธารณรัฐเกาหลี ลาว เนเธอร์แลนด์ เนปาล เวียดนาม ได้ให้ความเห็นชอบและพร้อมที่จะให้การรับรองและลงนามในร่างกฎบัตรฯ ภายหลังการเปิดให้มีการลงนามร่างกฎบัตรฯ ฉบับใหม่ กระทรวงการต่างประเทศจะนำร่างกฎบัตรฯ ฉบับใหม่ที่ลงนามแล้ว พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย พ.ศ. .... เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฯ และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ต่อไป

สาระสำคัญของร่างกฎบัตรฯ

1. สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ได้รับการจัดตั้งขึ้นให้เป็นองค์การระหว่างประเทศ มีลักษณะไม่แสวงหากำไร เป็นอิสระ และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

2. สมาชิกภาพของ AIT เปิดให้กับทุกรัฐ และองค์การระหว่างประเทศที่เห็นพ้องกับวัตถุประสงค์ของ AIT

3. AIT อาจร้องขอให้สมาชิกอำนวยความสะดวกตามขอบเขตที่สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับภายในประเทศของตน เพื่อให้โครงการวิชาการของ AIT ได้รับการรับรองโดยมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้นอื่น ๆ

4. ในประเทศเจ้าบ้านให้ AIT มีสถานะเป็นนิติบุคคลและโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับภายในของประเทศเจ้าบ้าน

4.1 ที่จะได้มาและจำหน่ายจ่ายโอนอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์

4.2 ที่จะทำสัญญา และ

4.3 ที่จะดำเนินการทางกฎหมาย

5. ให้ AIT และสมาชิกสำนักเลขาธิการได้อุปโภคสิทธิ เอกสิทธิและความคุ้มกันในราชอาณาจักรไทยตามที่จะได้กำหนดไว้ในความตกลงสำนักงานใหญ่เท่าที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และกิจกรรมของเอไอที ในการจัดทำความตกลงสำนักงานใหญ่ ประเทศไทยจะไม่มีพันธะต้องให้สิทธิ เอกสิทธิ และความคุ้มกันทั้งปวงข้างต้นแก่บุคคลสัญชาติไทยและผู้มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศไทย

6. ให้สมาชิกของ AIT ใช้ความพยายามทุกทางในการสนับสนุนด้านการเงิน สิ่งของ และบริการสำหรับการพัฒนา AIT ต่อไปบนพื้นฐานความสมัครใจตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับภายในประเทศและภายในขอบเขตของการจัดสรรงบประมาณของประเทศสมาชิก

7. กฎบัตรนี้จะเปิดให้มีการลงนามเป็นเวลาหนึ่งปีภายหลังจากวันที่ที่มีการรับรอง และต้องได้รับการยอมรับหรือความเห็นชอบโดยฝ่ายที่ลงนาม

8. ให้กฎบัตรนี้มีผลบังคับใช้หกเดือนภายหลังวันที่ที่มีการยื่นหนังสือยอมรับหรือหนังสือให้ความเห็นชอบฉบับที่ห้า

9. ให้เก็บรักษาต้นฉบับของกฎบัตรไว้กับรัฐบาลไทยซึ่งจะส่งสำเนากฎบัตรที่ได้รับการรับรองโดยชอบแล้วให้ฝ่ายที่ลงนาม และรัฐและองค์การระหว่างประเทศที่ภาคยานุวัติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ