การนำกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าฉบับทบทวน (Revised PSR) ปี พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 6, 2010 15:59 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การนำกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าฉบับทบทวน (Revised PSR) ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009)

มาใช้ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้

1. เห็นชอบการดำเนินการนำกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าฉบับทบทวน (Revised PSR) ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในหนังสือรับรองดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ฉบับทบทวน (Revised PSR) ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) ขอให้ผู้ลงนามสามารถใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ ได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงนามในหนังสือให้การรับรองดังกล่าว

4. เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามข้อ 1. แล้ว มอบหมายหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามสัญญา

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลังเสนอว่า

1. ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ในปัจจุบันเป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการใช้มาตรการกำหนดอัตราอากรร่วมเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (Agreement on the Common Effective Preferential Tariff (CEPT) Scheme for the ASEAN Free Trade Area : CEPT) โดยที่ประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550 มีมติให้ปรับปรุงความตกลง CEPT ให้เป็นความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) ซึ่งในส่วนของประเทศไทย รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบความตกลง ATIGA เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2552 ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ ดังนั้นความตกลง CEPT จึงมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย สำหรับการนำ Revised PSR ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) มาใช้ และการรับรอง Revised PSR ดังกล่าวจะดำเนินการภายใต้ความตกลง CEPT/ATIGA เนื่องจาก Revised PSR ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) จะเหมือนกันไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ความตกลง CEPT หรือความตกลง ATIGA

2. กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules : PSR) เป็นเกณฑ์ ที่กำหนดไว้เฉพาะรายสินค้าตามพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ และโครงสร้างการผลิตของสินค้านั้น เพื่อพิสูจน์ว่าสินค้าดังกล่าวมีถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่ง PSR ปรากฏอยู่ในความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนภายใต้ความตกลง CEPT และความตกลง ATIGA ดังนี้

2.1 PSR ในปัจจุบันระบุอยู่ในภาคผนวก ค (APPENDIX C) ซึ่งกล่าวถึงในกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด สินค้าภายใต้ความตกลง CEPT (Rules of Origin for the Agreement on the Common Effective Preferential Tariff (CEPT) Scheme : CEPT — AFTA-ROO) ข้อบท 4 ข้อ 1 (ข) โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการได้ถิ่นกำเนิดสินค้าตามประเภทและประเภทย่อยของพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) (HS 2002)

2.2 PSR ภายใต้ความตกลง ATIGA ซึ่งจะนำมาใช้ในอนาคตระบุอยู่ในภาคผนวก 3 (ANNEX 3) ของบทที่ 3 ของความตกลงเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ข้อ 28 วรรค 2 (เอ) ซึ่งระบุว่าสินค้าที่อยู่ในภาคผนวก 3 โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการได้ถิ่นกำเนิดสินค้าตามประเภทและประเภทย่อยของพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) (HS 2007) ซึ่งจะนำมาใช้ในอนาคตแทนความตกลง CEPT

3. อาเซียนได้ทบทวน PSR เพื่อให้เป็นไปตามมติของ AFTA Council ครั้งที่ 20 ที่กำหนดว่าโดยหลักการทั่วไปกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียนควรมีเกณฑ์ที่ง่ายอย่างน้อยเท่ากับกฎฯ ที่อาเซียนทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ โดยปรับจาก PSR ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบ HS 2002 ซึ่งมีการแปลง (Tranpose) ให้เป็นในระบบ HS 2007 เรียกว่ากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าฉบับทบทวน (Revised PSR) ปี พ.ศ. 2551(ค.ศ.2008) (2008 CEPT PSR) โดย AFTA Council ได้มีมติรับรองในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งอาเซียนได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุง Revised PSR ฉบับดังกล่าว โดยหลักการให้ง่ายเทียบเท่ากับ PSR ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน — ออสเตรเลีย — นิวซีแลนด์ (AANZFTA) เรียกว่ากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าฉบับทบทวน (Revised PSR) ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ.2009) (2009 CEPT/ATIGA PSR) ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียนส่งให้ประเทศสมาชิกดำเนินการตามกระบวนการภายในเพื่อให้ AFTA Council ให้การรับรองในลักษณะ Ad — referendum

4. การดำเนินการนำ Revised PSR ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) มาใช้จะดำเนินการขอความเห็นชอบรัฐสภาภายใต้ความตกลง CEPT หรือความตกลง ATIGA ดังนี้

4.1 กรณีความตกลง CEPT มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน จะดำเนินการขอความเห็นชอบรัฐสภาภายใต้ความตกลง CEPT และเพื่อความต่อเนื่องในการบังคับใช้ Revised PSR ดังกล่าว เมื่อ ATIGA มีผลบังคับใช้ ซึ่งความตกลง CEPT จะถูกแทนที่ (Superseded) โดย ATIGA จึงขอความเห็นชอบรัฐสภาในหลักการการนำ Revised PSR ฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นฉบับเดียวกันนั้นแนบความตกลง ATIGA ด้วย โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบรัฐสภาอีกครั้ง

4.2 หากความตกลง ATIGA มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน จะดำเนินการขอความเห็นชอบรัฐสภาภายใต้ความตกลง ATIGA ซึ่งความตกลง ATIGA จะแทนที่ความตกลง CEPT

ทั้งนี้จะมีการใช้ Revised PSR ดังกล่าว ภายใต้ความตกลง CEPT ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) 180 วัน นับจากวันที่ความตกลง ATIGA มีผลใช้บังคับ

5. จากการเปรียบเทียบ Revised PSR ปี พ.ศ. 2551 กับ Revised PSR ปี พ.ศ. 2552 พบว่าสินค้ามีเกณฑ์การได้ถิ่นกำเนิดสินค้า (Origin Criteria) ที่แตกต่างกันอยู่จำนวน 55 รายการ ซึ่งเกณฑ์การได้ถิ่นกำเนิดสินค้า (Origin Criteria) ของสินค้าดังกล่าว ที่ระบุใน Revised PSR ปี พ.ศ. 2552 นี้ เป็นเกณฑ์ที่ง่ายกว่าเกณฑ์การได้ถิ่นกำเนิดสินค้าใน Revised PSR ปี พ.ศ. 2551

6. กรมศุลกากรได้มีการประชุม เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าต่างประเทศ) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) กระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) กระทรวงการต่างประเทศ (กรมอาเซียน) และกระทรวงการคลัง (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) และหน่วยงานภาคเอกชน ประกอบด้วย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมและผู้ผลิตต่าง ๆ โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (Revised PSR) ฉบับทบทวน ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ.2009) ที่นำมาใช้ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน

7. มติที่ประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ได้รับทราบผลการทบทวนกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (PSR) ฉบับปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) เพื่อให้ประเทศสมาชิกดำเนินการตามกระบวนการภายใน สำหรับให้คณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียนให้การรับรองในลักษณะ Ad — referendum ต่อไป โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2553 และจากร่างรายงานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM 1/41) ระหว่างวันที่ 19-20 มกราคม 2553 ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ที่ประชุมเห็นชอบให้การรับรอง Revised PSR ดังกล่าวนี้ ต้องแล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2553 โดยให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 จึงมีความจำเป็นจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร่งด่วน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ