บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 6, 2010 16:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้นำเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป โดยมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

ข้อเท็จจริง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอว่า

1. เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2547 เอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก ได้เข้าพบนาย Jaime Campo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรชิลี เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยกับชิลี และทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกันที่จะขยายความร่วมมือด้านการเกษตรให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงเสนอแนะให้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเกษตร และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช

2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญครอบคลุมถึงความร่วมมือในด้านพืช และสัตว์ และการอนุรักษ์และจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ : เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี การค้า การฝึกอบรม และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการในสาขาการเกษตรระหว่างคู่ภาคี โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อความร่วมมือด้านการเกษตรโดยจะมีผลใช้บังคับ 5 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม และจะมีผลใช้บังคับต่อไปอีก ครั้งละ 5 ปีตามอัตโนมัติ ยกเว้นภาคีคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งขอยุติบันทึกความเข้าใจก่อนบันทึกความเข้าใจจะสิ้นสุด 3 เดือน โดยจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรตามช่องทางการทูต

สาระสำคัญของเรื่อง

1. วัตถุประสงค์ ร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ซึ่งอาจมีการพิจารณาในอนาคต (ข้อ 1)

2. ขอบเขตความร่วมมือ : ได้แก่ การเกษตร ซึ่งรวมทั้งสัตว์และพืช การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรและสถาบันภาคเกษตรกร การจัดการและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพด้านการเกษตร เป็นต้น (ข้อ 4)

3. กำหนดให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร หรือเรียกว่า “JAWG” เพื่อการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ โดยคณะทำงานร่วมด้านการเกษตรจะรับผิดชอบในการประเมินผลโครงการ หรือเสนอโครงการเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงในอนาคต รวมทั้งให้คำแนะนำ (ข้อ 5)

4. รูปแบบของความร่วมมือ : ความร่วมมือจะอยู่ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนนักวิชาการและนักวิจัย การศึกษาและการจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ การวิจัยร่วมด้านการเกษตร รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทางวิทยาศาสตร์และทางวิชาการ เป็นต้น (ข้อ 6)

5. การระงับข้อพิพาท : ข้อพิพาทระหว่างคู่ภาคีที่เกิดจากการตีความหรือการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ให้ระงับโดยฉันท์มิตรด้วยการหารือหรือเจรจา (ข้อ 11)

6. การมีผลบังคับใช้ และการสิ้นสุด : บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลบังคับในวันที่มีการลงนาม และจะมีผลใช้บังคับนับจากวันที่มีการลงนามเป็นระยะเวลา 5 ปี และหลังจากนั้นจะขยายอายุโดยอัตโนมัติอีกครั้งละ 5 ปี แต่อาจสิ้นสุดโดยภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้า 3 เดือน ก่อนบันทึกความเข้าใจจะ สิ้นสุด (ข้อ 12)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ