ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 12, 2010 11:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต พ.ศ. ....ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดคำนิยาม เช่น ซะกาต กองทุนซะกาต (ร่างมาตรา 3)

2. กำหนดให้การดำเนินการและการจัดการซะกาตต้องสอดคล้องกับบัญญัติศาสนาอิสลาม และการจัดเก็บซะกาตหรือการรับบริจาคเงินต้องดำเนินการบนพื้นฐานความสมัครใจ (ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)

3. กำหนดให้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของผู้จ่ายซะกาต ผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ผู้มีสิทธิได้รับซะกาต และผู้รับบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นก่อนหรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการ (ร่างมาตรา 7)

4. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและกำกับดูแลการดำเนินงานและการจัดการกองทุนซะกาต รวมทั้งการกำหนดนโยบาย แผนงาน มาตรการ และวางระเบียบ หลักเกณฑ์การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 8 และร่างมาตร 12 )

5. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต ประกอบด้วย เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรต่างประเทศ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้ เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนจาการชำระบัญชีของกองทุนซะกาต และผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว (ร่างมาตรา 15 และร่างมาตรา 16)

6. กำหนดให้มีสำนักงานส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตในสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือกองทุนซะกาต บริหารจัดการกองทุนส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตและดำเนินการอื่นในส่วนที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 19)

7. กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มัสยิด มูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง สามารถจัดตั้งกองทุนซะกาตได้ตามความสมัครใจ (ร่างมาตรา 23)

8. กำหนดแหล่งที่มาของเงินและทรัพย์สินของกองทุนซะกาต รวมทั้งกำหนดกรณีการจ่ายเงินและทรัพย์สินของกองทุนซะกาตไว้เพื่อความชัดเจน เพื่อมิให้ขัดกับบัญญัติศาสนาอิสลาม (ร่างมาตรา 24 และร่างมาตรา 26)

9. กำหนดให้กองทุนซะกาตที่จดทะเบียนแล้ว ให้ใช้ชื่อนำหน้าว่า “กองทุนซะกาต” ต่อด้วยชื่อที่ประสงค์จะขอจดทะเบียน และลงท้ายด้วยข้อความว่า “ซึ่งจดทะเบียนแล้ว” (ร่างมาตรา 27)

10.กำหนดกรณีการเลิก การยุบรวม และการแยกกองทุนซะกาต รวมทั้งการชำระบัญชีของกองทุนซะกาต เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายครอบคลุมและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (ร่างมาตรา 28 ถึงร่างมาตรา 30)

11.กำหนดองค์ประกอบของคณะผู้บริหารกองทุนซะกาต โดยในปีแรก เมื่อยังไม่มีผู้แทนผู้จ่ายซะกาต ก็ให้คณะผู้บริหารกองทุนซะกาต ประกอบด้วยคณะผู้บริหารกองทุนซะกาตเท่าที่มีอยู่ (ร่างมาตรา 31)

12.กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะผู้บริหารกองทุนซะกาต (ร่างมาตรา 32)

13.กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะผู้บริหารกองทุนซะกาตในการจัดทำงบการเงินของกองทุนซะกาตและ จัดให้มีการตรวจสอบบัญชีของกองทุนซะกาต โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ร่างมาตรา 37)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ