ขออนุมัติเงินงบกลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 12, 2010 16:11 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติเงินงบกลางเพื่อดำเนินกระบวนการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมระดมความคิด แก้ไข

ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ มูลนิธิพัฒนาไท เป็นแกนกลางในการจัดให้มีเวทีสาธารณะในระดับต่างๆ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และเห็นชอบกับแผนการดำเนินกระบวนการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในทุกระดับ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม — กันยายน 2553

2. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณี ฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นงบอุดหนุนทั่วไปให้กับมูลนิธิพัฒนาไท เป็นค่าใช้จ่ายในการขับเคลื่อนการรับฟังความคิดเห็น (ค่าจัดประชุม ค่าอาหาร ที่พัก พาหนะ ค่าตอบแทน วิทยากร ค่าเอกสารและวัสดุอุปกรณ์) กรอบวงเงินรวม 10,000,000 บาท โดยให้ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางต่อไป

เรื่องเดิม

1. สืบเนื่องจากที่ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติและกำหนดกลไกการทำงาน เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม นั้น

2. ต่อมา ได้มีการประชุมหารือร่วมระหว่างที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน กับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยมีข้อสรุปผลการหารือ ดังนี้

1) เห็นควรจัดให้มีกระบวนการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมระดมความคิด ในรูปแบบเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับประเทศ ระดับพื้นที่ในทุกภาค และลงลึกในเชิงประเด็นที่แตกต่างกันในระดับจังหวัด รวมทั้งเวทีเฉพาะกลุ่ม เฉพาะประเด็นควบคู่ไปด้วย เพื่อนำผลจากเวทีทุกระดับมาประมวลสังเคราะห์ในประเด็นการแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สอดรับกับแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม

2) ที่ประชุมเห็นร่วมกันให้มูลนิธิพัฒนาไท ซึ่งเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์และภารกิจสนับสนุนการพัฒนาคน ชุมชนและสังคมอย่างเป็นองค์รวมบูรณาการ การสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาประชาสังคมโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ทำหน้าที่เป็นแกนกลางร่วมกับ สศช. สช. และสสส. ในการจัดกระบวนการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมระดมความคิดในทุกระดับ

โดยที่ การดำเนินกระบวนการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมระดมความคิดดังกล่าวมูลนิธิพัฒนาไทย และ สศช. ในฐานะที่ต้องทำหน้าที่เป็นแกนกลางจัดให้มีเวทีสาธารณะอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะต้องจัดเตรียมการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการระดมความคิด และประสานอำนวยความสะดวกในการจัดเวทีทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ตลอดจนสังเคราะห์กลไกและการวางแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ ที่สอดรับตามยุทธศาสตร์แนวทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ที่กำลังขับเคลื่อนดำเนินการ ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนใน แนวทางการแก้ปัญหาการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม และเกิดรูปธรรมของการสร้างความปรองดองแห่งชาติตามแนวนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลสนับสนุนให้ผนึกพลังร่วมจากทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการ ทั้งนี้ การดำเนินการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมระดมความคิดดังกล่าว มีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินกระบวนการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

สาระสำคัญแผนการดำเนินงาน

1. กรอบแผนการดำเนินกระบวนการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในทุกระดับ ครอบคลุม

1) ขอบข่ายภารกิจการทำงานใน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับประเทศ เป็นการบูรณาการในการวางกรอบการปฏิรูปประเทศไทยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและทางสังคม โดยผนึกพลังร่วมจากทุกเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมวางเป้าหมายและแนวทางดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายในภาพรวม ส่วนระดับพื้นที่ภาค จังหวัด และชุมชน เป็นการร่วมกันค้นหาปัญหา อุปสรรค ที่เจาะลงลึกในเชิงประเด็นเฉพาะเรื่อง เฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละภาค แต่ละจังหวัด ส่งผลให้การวางแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง เฉพาะด้าน มีความชัดเจน ตอบสนองการแก้ไขปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ชุมชนได้อย่างแท้จริง

2) รูปแบบกิจกรรม ดำเนินการโดยใช้วิธีการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล และการจัดให้มีการระดมความคิดในรูปแบบเวทีประชุมสัมมนาทั้งในระดับประเทศ ประมาณ 2 ครั้ง ระดับภาคทุกภาคทั่วประเทศ ภาคละ 1-2 ครั้ง และเวทีสาธารณะระดับจังหวัด ระดับชุมชน ตามประเด็นเฉพาะเรื่อง เฉพาะกลุ่มที่สำคัญตามความจำเป็น โดยมี มูลนิธิพัฒนาไท เป็นแกนกลางในการจัดเวทีร่วมกับ สศช. สช. สสส. และเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้อง

2. ระยะเวลาดำเนินการ เริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2553 เป็นต้นไปจนถึงเดือนกันยายน 2553

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ