ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จากงบกลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 12, 2010 16:15 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้กระทรวงสาธารณสุขขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงสาธารณสุข (กรมสุขภาพจิต) รายงานว่า

1. กรมสุขภาพจิตมีภารกิจในการดูแลสุขภาพจิตของประชาชน โดยมีการบริการผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต พร้อมทั้งเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน เนื่องจากประเทศไทยเกิดวิกฤตทางการเมืองจากความขัดแย้งทางความคิดทำให้มีการชุมนุมและจากเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป ส่งผลให้เกิดความสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อเป็นการเยียวยาด้านจิตใจและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที กรมสุขภาพจิตได้จัดทำโครงการช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป

2. โครงการดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

2.1 ชื่อโครงการ โครงการช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป

2.2 เจ้าของโครงการ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

2.3 หลักการและความสำคัญของปัญหา ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดวิกฤตทางการเมืองจากความขัดแย้งทางความคิด มีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นหลายฝ่าย สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้นและจากเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป ส่งผลให้เกิดความสูญเสีย ทำให้เกิดความเครียด ตื่นตระหนกวิตกกังวล รู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่มีความสุข ความรู้สึกเหล่านี้จะหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน แต่บางคนไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ได้ ดังนั้น หากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีอาจจะเกิดปัญหาทาง สุขภาพจิต โรคทางจิตเวช บาดแผลทางจิตใจ และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเครียดภายหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในระยะยาว ผลกระทบภายหลังจากประสบเหตุวิกฤต มี 4 ด้าน ได้แก่ อารมณ์ ความคิด ร่างกาย และความสัมพันธ์กับผู้อื่น การบำบัดและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากและต้องเร่งช่วยเหลือเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคเครียดภายหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ

2.4 วัตถุประสงค์

2.4.1 เพื่อเยียวยาและให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจ และช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบ

2.4.2 เพื่อให้มีข้อมูลผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตใจ และเฝ้าระวังการเกิดปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง

2.4.3 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งทางจิตใจเมื่อมีการเผชิญกับวิกฤตอื่น ๆ ในชีวิต

2.5 กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้บาดเจ็บ พิการ ครอบครัวผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชุมชนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง กลุ่มผู้ช่วยเหลือ และประชาชนที่มีอารมณ์ทางการเมืองรุนแรง

2.6 ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2554

2.7 วิธีดำเนินการ ประกอบด้วย กิจกรรม 1. จัดตั้งศูนย์เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบฯ 2. การเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบระดับบุคคลและชุมชน 3. พัฒนาศักยภาพเครือข่าย (3.1) พัฒนาศักยภาพแก่เครือข่ายทั่วประเทศในการช่วยเหลือประชาชน (3.2) การสำรวจ คัดกรองและเฝ้าระวัง ช่วยเหลือติดตามผู้ได้รับผลกระทบฯ โดย อสม./อสส. (3.3) สร้างทีม MCC (Mental Health Crisis Center) (3.4) เครือข่ายไซเบอร์ (3.5) การจัดการองค์ความรู้สุขภาพจิต 4. การฟื้นฟูสังคม 5. การบริการในสถานบริการสังกัดกรมสุขภาพจิต 6. การเฝ้าระวัง

2.8 ผลที่คาดว่าจะได้รับ

2.8.1 ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีและสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

2.8.2 มีข้อมูลผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต และเฝ้าระวังการเกิดปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง

2.8.3 ประชาชนทั่วไปมีภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งทางจิตใจเมื่อมีการเผชิญกับวิกฤตอื่น ๆ ในชีวิต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ