เรื่อง มาตรการทบทวนบทบาทภารกิจของส่วนราชการ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชกฤษฎีกา
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้
1. เห็นชอบข้อเสนอให้มีการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานของส่วนราชการต่างๆ ให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นรับไปดำเนินการแทน โดยมีแผนการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะแรก : ถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐาน จำนวน 37 งานและติดตามประเมินผล
ระยะที่สอง : เตรียมการและถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานที่ยังคงเหลือให้แล้วเสร็จอีก 56 งาน
ระยะที่สาม : ศึกษาเพื่อเตรียมการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจภาครัฐในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐาน
2. เห็นชอบให้สำนักงาน ก.พ.ร.เป็นเจ้าภาพจัดทำและดำเนินโครงการร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ศึกษาเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการระบบการมาตรฐานของไทยให้มีความเป็นเอกภาพและเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
ทั้งนี้ ให้ยกเว้นในส่วนของการถ่ายโอนงานของกระทรวงพลังงาน (กรมธุรกิจพลังงาน) จำนวน 2 งาน ได้แก่ งานตรวจวิเคราะห์น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น และงานตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ค้าน้ำมัน (ซึ่งรวมอยู่ในแผนการดำเนินงานระยะแรก จำนวน 37 งาน) ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับไปพิจารณาทบทวนร่วมกับกระทรวงพลังงาน แล้วนำเสนอ ก.พ.ร.ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ในการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2553 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่อง มาตรการทบทวนบทบาทภารกิจของส่วนราชการ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ตามมติคณะรัฐมนตรี (24 พฤศจิกายน 2552) แล้วเห็นว่า การปรับบทบาทภารกิจภาครัฐนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการ โดยในระยะนำร่องให้เลือกภารกิจภาครัฐเกี่ยวกับงานตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานในภาพตัดขวาง ซึ่งมีอยู่ในหลายส่วนราชการมาดำเนินการก่อนเป็นระยะที่ 1 น่าจะเหมาะสมกว่าการเลือกแบบส่วนราชการนำร่อง จึงมีมติให้สำนักงาน ก.พ.ร.เร่งสำรวจภารกิจดังกล่าวในกระทรวง ทบวง กรม แล้วนำเสนอเพื่อพิจารณาต่อไป ภายในกำหนดเวลา 1 เดือน
2. ในการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เสนอผลการสำรวจภารกิจการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐาน ว่ามีอยู่ในส่วนราชการ 33 กรม จำนวน 110 ภารกิจ นอกจากนั้นยังพบว่าในจำนวน 110 ภารกิจดังกล่าว ได้มีการถ่ายโอนไปภาคส่วนอื่นแล้วจำนวน 17 ภารกิจ และเมื่อวิเคราะห์ภารกิจที่เหลือจำนวน 93 ภารกิจเกี่ยวกับข้อจำกัดในการถ่ายโอน ประกอบกับการหารือกับส่วนราชการเจ้าของภารกิจ มีภารกิจที่เริ่มดำเนินการได้ทันทีในระยะแรกจำนวน 37 ภารกิจ ซึ่ง ก.พ.ร.ได้มีมติเห็นชอบให้ถ่ายโอนภารกิจตามแผนงานการถ่ายโอนภารกิจการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอและให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
3. ในการประชุมร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงาน ก.พ.ร.ตามที่ ก.พ.ร.ได้พิจารณาแล้ว และมีมติให้นำเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป พร้อมกับเรื่องการพัฒนาระบบตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานของไทย
สรุปสาระสำคัญ
1. ข้อเสนอให้มีการถ่ายโอนงานตรวจสอบรับรองคุณภาพมาตรฐานในระยะแรก จำนวน 37 งาน ใน 18 ส่วนราชการ และรายละเอียดขั้นตอนแผนการดำเนินงาน 3 ระยะ ดังนี้
ระยะแรก : โอนงานตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐาน จำนวน 37 งาน และติดตามประเมินผล โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.1 ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวกับการมาตรฐานเพื่อลดความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานและปรับปรุงกระบวนงานที่เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานให้มีคุณค่าในการบริการเพิ่มขึ้น
1.2 จัดให้มีการหารือกับภาคเอกชนและ/หรือภาคส่วนอื่น เช่น สมาคมวิชาชีพ และสถาบันการศึกษา เป็นต้น ที่จะมารับโอนงานจากรัฐเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการมิให้เกิดช่องว่างหรือการชะงักงันในการให้บริการ รับฟังเงื่อนไข ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะและความต้องการการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้การถ่ายโอนงานดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องมีการทำข้อตกลงในการถ่ายโอนงานระหว่างส่วนราชการกับภาคส่วนอื่นที่จะมารับโอนงานจากรัฐ ซึ่งระบุเรื่องระดับการให้บริการและค่าบริการในแต่ละเรื่องด้วย
1.3 สร้างกระบวนงานการตรวจรับรอง (Accreditation) ที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องให้การรับรองมาตรฐานการทำงานของภาคส่วนอื่นที่จะมารับโอนงานจากรัฐให้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลักดันและส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
1.4 ให้ส่วนราชการจัดทำรายละเอียดแผนการดำเนินงานเพื่อโอนถ่ายงานที่พิจารณาคัดเลือกแล้วให้ภาคเอกชน/หรือภาคส่วนอื่นที่มารับโอนงานจากรัฐ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะแรก และป้องกันไม่ให้เกิดข้อขัดข้องในการให้บริการ โดยส่วนราชการอาจยังต้องให้บริการคู่ขนานไปพลางก่อน รวมทั้งต้องมีแนวทางในการถ่ายโอนทรัพยากรและอัตรากำลังให้ชัดเจน ทั้งนี้ให้นำแผนการดำเนินงานที่จัดทำแล้วเสนอต่อ ก.พ.ร.ด้วย
1.5 ทดสอบความพร้อมและดำเนินการให้มีการถ่ายโอนงาน โดยในระยะแรกให้มีการใช้ระบบคู่ขนานไปพลางก่อน
1.6 ติดตามประเมินผลเพื่อนำไปสู่การโอนถ่ายภารกิจอย่างสมบูรณ์ต่อไป
ระยะที่สอง : เตรียมการและถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานที่ยังเหลืออยู่อีก 56 งาน ให้แล้วเสร็จ โดยพิจารณาปัญหาอุปสรรคและเงื่อนไขต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย
ระยะที่สาม : ศึกษาเพื่อเตรียมการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจของภาครัฐในด้านอื่นต่อไป
2. ข้อเสนอโครงการศึกษาเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการระบบการมาตรฐานของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้มีความเป็นเอกภาพและเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยมีขอบเขตการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างระบบการมาตรฐานของประเทศไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมาตรฐาน หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการมาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน กลไกการดำเนินการเพื่อให้ระบบการมาตรฐานของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง และจัดทำแนวทางในการบูรณาการโครงสร้างการบริหารจัดการด้านการมาตรฐานให้เป็นระบบ จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนามาตรฐานให้มีบทบาทในการส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในด้านการค้าการนำเข้าและการส่งออก ให้สามารถพัฒนาข้อกำหนดมาตรฐานได้ครอบคลุมและทันต่อความต้องการ เป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยให้เอกชนมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานแบบสมัครใจ
ครงการตามข้อเสนอนี้ สำนักงาน ก.พ.ร.จะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการร่วมกับส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการมาตรฐานของประเทศ โดยจะประสานขอรับการสนับสนุนโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงบประมาณต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤษภาคม 2553--จบ--