คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 12, 2010 16:45 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรต.)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรต.) ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) รายงานว่า

1. หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 (ข้อ 2) สปน. ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เสนอร่างคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรต.) และต่อมานายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 276/2552 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรต.) โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) เป็นรองประธานกรรมการ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ และมีกรรมการอื่นอีก 19 คน มีอำนาจหน้าที่หลักคือ พิจารณาวางกรอบและระบบอำนวยการ วางแนวทางการประมวลเรื่องร้องเรียน การเร่งรัด ติดตาม ประเมินผล ตลอดจนการประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับสูงถึงระดับปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามความเหมาะสมเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ และอำนาจหน้าที่อื่นอีก 6 ประการ

2. คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2553 ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 และครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 โดยในการประชุมในแต่ละครั้งได้เชิญผู้แทนของส่วนราชการอื่นที่ไม่ใช่กรรมการเข้าร่วมด้วย คือ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และนักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และวิทยาลัยอิสลามศึกษา ปัตตานี ซึ่งในการประชุมได้พิจารณาข้อมูลเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และมีมติคณะกรรมการฯ ดังนี้

2.1 ข้อมูลเรื่องร้องเรียน

เรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และในพื้นที่ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) ซึ่งสรุปจำนวนเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปี 2550 — 2552 มายังหน่วยงานต่าง ๆ 4 หน่วยงาน รวมจำนวน 836 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้วจำนวน 680 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 156 เรื่อง ดังนี้

  • สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2550 จำนวน 86 เรื่อง ปี 2551 จำนวน 79 เรื่อง ปี 2552 จำนวน 157 เรื่อง รวมทั้งหมด 322 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว จำนวน 310 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 12 เรื่อง โดยมีข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่เป็นกรณีบัตรสนเท่ห์ และเป็นเรื่องที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการประสานขอข้อมูลจากผู้ร้องเรียนเพิ่มเติมแต่ผู้ร้องเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ จึงยุติเรื่อง
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2550 จำนวน 38 เรื่อง ปี 2551 จำนวน 62 เรื่อง ปี 2552 จำนวน 36 เรื่อง รวมทั้งหมด 136 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว จำนวน 81 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 55 เรื่อง
  • ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2550 จำนวน 65 เรื่อง ปี 2551 จำนวน 107 เรื่อง ปี 2552 จำนวน 140 เรื่อง รวมทั้งหมด 312 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว จำนวน 234 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 78 เรื่อง
  • กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ปี 2550 จำนวน 9 เรื่อง ปี 2551 จำนวน 26 เรื่อง ปี 2552 จำนวน 31 เรื่อง รวมทั้งหมด 66 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว จำนวน 55 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการ 11 เรื่อง

2.2 มติคณะกรรมการฯ

เห็นชอบกับหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่คณะทำงานได้ดำเนินการยกร่าง เพื่อที่จะกราบเรียนนายกรัฐมนตรีนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อ 1. คำนิยามในหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ

“เรื่องร้องเรียน” หมายความว่า ข้อเท็จจริงและผลที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ผู้ร้องเรียนหรือบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ร้องเรียน ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้รับหรือได้พบเห็น ซึ่งผู้ร้องเรียนเห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือไม่ชอบด้วย จริยธรรมอันดีหรือผิดระเบียบกฎหมาย และผู้ร้องเรียนได้ยื่นเสนอต่อหน่วยงานหรือองค์กรหรือส่วนราชการต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ ผู้นั้น เพื่อดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และในพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) ทั้งนี้ เรื่องร้องเรียนดังกล่าวจะต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงโดยมีพยานหลักฐานที่อ้างอิงได้

“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่นไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะกรรมการหรือฐานะอื่นใดของหน่วยงานของรัฐ รวมถึงผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“ส่วนราชการ” หมายความว่า ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในกำกับของราชการฝ่ายบริหาร รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ข้อ 2. การยื่นหรือเสนอเรื่องร้องเรียน

ผู้ร้องเรียนมีสิทธิยื่นหรือเสนอเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานหรือองค์กร หรือส่วนราชการต้นสังกัดของผู้ถูกร้องเรียน หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ อาทิเช่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หน่วยบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร และอื่นๆ รวมทั้ง มีสิทธิยื่นหรือเสนอผ่านสื่อมวลชน นักวิชาการและภาคประชาชน เช่น ศูนย์อำนวยความเป็นธรรมภาคประชาชนระดับตำบล (ADILAN CENTER,อะเดลัน หรือ อะดิลัน แปลว่า ความยุติธรรม) ศูนย์ยุติธรรมชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน สถาบันวิจัยความขัดแย้ง เป็นต้น

เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว หน่วยงานหรือบุคคลที่ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจะต้องส่งเรื่องร้องเรียนนั้นให้ส่วนราชการต้นสังกัดของผู้ถูกร้องเรียน เพื่อดำเนินการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน

ข้อ 3. การรับเรื่องร้องเรียน

ให้ส่วนราชการที่มีหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการเรื่องร้องเรียนนั้นขึ้นโดยตรงเป็นกรณีเฉพาะเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนไม่ว่าจะต้องดำเนินการต่อหรือไม่อาจดำเนินการได้ ให้ส่วนราชการนั้นไปชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่ผู้ร้องเรียนในเวลาอันรวดเร็ว ในกรณีที่ไม่อาจส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงดังกล่าวได้ ก็ให้ส่วนราชการนั้นแจ้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ในเวลาอันรวดเร็ว และขอความร่วมมือให้ชุดเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น หารือกันว่าหน่วยใด จะเป็นผู้ไปพบผู้ร้องเรียนในพื้นที่เพื่อรับทราบเรื่องร้องเรียนเพิ่มเติม และชี้แจงทำความเข้าใจ ถึงขั้นตอน การดำเนินการ และระยะเวลาการพิจารณาเรื่องร้องเรียนในเบื้องต้น ตลอดจนข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ต้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ภายในสามวันทำการนับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน

กรณีที่ส่วนราชการเห็นว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องร้องเรียนที่ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ เช่น กรณีเรื่องที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือกรณีเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรือกรณีที่ศาลพิพากษา หรือมีคำสั่งเด็ดขาดในประเด็นที่ร้องเรียนแล้ว หรือเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นต้น ก็ให้ตอบชี้แจงข้อเท็จจริงและแจ้งผู้ร้องเรียนทราบภายในสามวันทำการนับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน

ส่วนกรณีบัตรสนเท่ห์ ที่สามารถระบุพยานหลักฐานชัดแจ้งพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง หรือกรณีแวดล้อมปรากฏชัดแจ้ง ตลอดจนชี้พยานบุคคลแน่นอนได้ ให้ส่วนราชการที่รับเรื่องร้องเรียนพิจารณาดำเนินการต่อไป หรือส่งเรื่องให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป

โดยขอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ความสำคัญกับเรื่องร้องเรียนจากกรณีบัตรสนเท่ห์ด้วย

ข้อ 4. การพิจารณาเรื่องร้องเรียน

ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ส่วนราชการผู้รับผิดชอบเรื่องร้องเรียนต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่ตนเห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง ในการนี้ให้รวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย

(1) แสวงหาพยานหลักฐานที่ถูกต้องและเป็นจริงทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง

(2) รับฟังพยานหลักฐาน คำชี้แจงหรือความเห็นของผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญตามแต่กรณี

(3) ขอให้ส่วนราชการหรือผู้เกี่ยวข้อง ที่ครอบครองหลักฐานหรือเอกสาร ส่งหลักฐาน หรือเอกสารมาเพื่อประกอบการพิจารณา

(4) ออกไปตรวจสถานที่ (ถ้าเห็นว่ามีความจำเป็น)

(5) ดำเนินการตามขั้นตอน ของระเบียบ กฎหมายต่อไป

การพิจารณาเรื่องร้องเรียนต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปโดยรวดเร็วภายในสามสิบวันทำการนับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน ยกเว้น กรณีผู้ถูกร้องเรียนถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ทั้งนี้ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ร้องเรียน เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีโอกาสชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานประกอบ

ในกรณีที่ผลการสืบสวนหรือสอบสวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่ามีมูล แม้ความผิดนั้นมิใช่เป็นความผิดวินัยร้ายแรง ให้ส่วนราชการที่รับเรื่องร้องเรียนส่งเรื่องให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พิจารณาแก้ไขปัญหาโดยใช้มาตรการทางการบริหารการปกครอง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 207/2549 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2549 เรื่องการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยประสานส่วนราชการต้นสังกัดให้ย้ายเจ้าหน้าที่ผู้ถูกร้องเรียนนั้นออกนอกพื้นที่โดยเร็ว

ข้อ 5. การคุ้มครองผู้ร้องและผู้ถูกร้อง

ให้มีการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่าให้ต้องรับภัยหรือความไม่ชอบธรรมอันเนื่องมาจากเรื่องร้องเรียน หรือการเป็นพยาน หรือการให้ข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของผู้ร้อง เช่น การรักษาความลับของเรื่องร้องเรียน การปกปิดข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของบุคคลดังกล่าว เป็นต้น

เมื่อการพิจารณาเรื่องร้องเรียนดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่ยุติ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้ถูกร้องเรียนไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกร้องเรียนให้ส่วนราชการต้นสังกัดหรือหน่วยงานผู้รับผิดชอบเรื่องร้องเรียนดำเนินการเยียวยาสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ผู้ถูกร้องเรียนนั้นตามควรแก่กรณี เช่น มีหนังสือรับรองว่าเจ้าหน้าที่ผู้ถูกร้องเรียนไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา เป็นต้น

ข้อ 6. การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ

ให้ส่วนราชการที่ดำเนินการพิจารณาเรื่องร้องเรียน เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน นักวิชาการ และภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการณ์ ในขั้นตอนพิจารณา ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงขั้นติดตามผลตามสมควร เว้นแต่กฎหมายจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

ข้อ 7. ระบบฐานข้อมูล

ให้ส่วนราชการที่รับเรื่องร้องเรียนรายงานตามแบบที่กำหนดให้ศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปต.) ที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทราบเป็นข้อมูลทุกระยะ ตั้งแต่เริ่มต้นจนได้ข้อยุติ เพื่อให้ศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปต.) เป็นหน่วยงานจัดทำระบบฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียน (DATABASE) ที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลกับทุกส่วนราชการ และหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อน และเป็นข้อมูลสำหรับตรวจติดตามผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E - INSPECTION) ตลอดจนการวิเคราะห์เรื่องร้องเรียน

แบบรายงานการรับเรื่องร้องเรียน มีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) ชื่อที่อยู่หรือที่ติดต่อของผู้ร้องเรียน (2) เหตุแห่งการร้องเรียน (3) ขั้นตอนหรือระยะเวลาการพิจารณาเรื่องร้องเรียน

แบบรายงานการพิจารณาเรื่องร้องเรียน มีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) ชื่อที่อยู่หรือที่ติดต่อของผู้ร้องเรียน (2) เหตุแห่งการร้องเรียน (3) ข้อเท็จจริงของเรื่องร้องเรียน(4) ข้อเท็จจริงในชั้นตรวจสอบ แสดงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เอกสาร หลักฐานพยานที่เกี่ยวข้อง (5) การดำเนินการในชั้นพิจารณาของส่วนราชการ (6) ความเห็นและคำวินิจฉัยของส่วนราชการ

ข้อ 8. การตรวจสอบและติดตามผล

ให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรต.) แต่งตั้งอนุกรรมการตรวจสอบและติดตาม ประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จเรทหาร จเรเหล่าทัพ และจเรตำรวจ เป็นต้น มีอำนาจหน้าที่ ดำเนินการตรวจสอบและติดตามเรื่องร้องเรียน และรายงานให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรต.) ทราบ

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรต.) จะต้องจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามในระยะเริ่มต้นอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง หรือตามที่ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรต.) เห็นสมควร เพื่อรายงานผลการดำเนินการ ปัญหา และอุปสรรคต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี

ข้อ 9. การประชาสัมพันธ์

ให้มีการประชาสัมพันธ์ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ รวมทั้ง ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับช่องทางหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ และผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความเข้าใจและเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ให้กรมประชาสัมพันธ์จัดทำแผนประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ให้ทุกส่วนราชการประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่เข้าใจหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อ 10. การสร้างเครือข่าย

ส่วนราชการที่รับเรื่องร้องเรียนหรือศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปต.) เห็นว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในคำนิยาม ให้ประสานไปยังหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ในกรณีที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น ให้รายงานผลการพิจารณาให้ผู้ร้องเรียนและหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น รับทราบด้วย

ให้ศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปต.) แจ้งผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปยังหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น เพื่อเผยแพร่และสร้างความเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ