ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติด (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 12, 2010 16:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติด (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553) ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติด (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553) โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีประชาชนถูกเลือกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 10,000 คน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1-20 กุมภาพันธ์ 2553 ตามนโยบาย “ประเทศไทยเข้มแข็ง ชนะยาเสพติดยั่งยืน” ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ระยะที่ 2 ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 3 เดือน คือ ระยะที่ 1 เดือนเมษายน-กันยายน 2552 และระยะที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552-กันยายน 2553 เพื่อมุ่งลดระดับของปัญหายาเสพติดที่ยังปรากฏอยู่ให้ลดน้อยลง หรือไม่ให้มีการขยายตัว และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใหม่ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีสาระสำคัญจากความคิดเห็นของประชาชนประมวลและสรุปได้ ดังนี้

1. ประชาชนร้อยละ 72.5 ระบุว่าทราบนโยบาย “ประเทศไทยเข้มแข็ง ชนะยาเสพติดยั่งยืน” และร้อยละ 27.5 ระบุว่าไม่ทราบ โดยผู้ที่ทราบส่วนใหญ่ในทุกภาคระบุว่าทราบทางโทรทัศน์มากที่สุด

2. ประชาชนร้อยละ 37.5 เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดในปัจจุบันโดยรวมยังมีปัญหาอยู่ และร้อยละ 42.0 เห็นว่าไม่มีปัญหา ส่วนร้อยละ 20.5 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ สำหรับผู้ที่ระบุว่ามีปัญหาเห็นว่าปัญหาที่มีอยู่ในระดับรุนแรงที่สุดร้อยละ 1.1 รุนแรงร้อยละ 3.2 ค่อนข้างรุนแรงร้อยละ 7.3 ส่วนผู้ที่เห็นว่าการแพร่ระบาดไม่ค่อยรุนแรงมี ร้อยละ 15.7 และไม่รุนแรงร้อยละ 10.2 โดยผลการสำรวจในเดือนก.พ.53 ประชาชนร้อยละ 37.5 เห็นว่ามีปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้านเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเดือนก.พ.52 ซึ่งมีร้อยละ 32.2

สำหรับผู้ที่ระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดยังมีปัญหาอยู่นั้น ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาในด้านต่าง ๆ ดังนี้

2.1 ด้านผู้ค้า หรือผู้ลักลอบค้ายาเสพติด ประชาชนร้อยละ 70.7 ระบุว่ามีปัญหา และร้อยละ 29.3 ระบุว่าไม่มีปัญหา โดยผู้ที่ระบุว่ามีปัญหาเห็นว่าปัญหาที่มีอยู่ในระดับมาก — มากที่สุดร้อยละ 8.8 (โดยรวมแล้วปัญหาที่มีอยู่ในระดับมากที่สุดร้อยละ 1.8 และมากร้อยละ 7.0) ส่วนร้อยละ 14.9 ระบุว่าค่อนข้างมาก ร้อยละ 17.0 ระบุว่าค่อนข้างน้อย และร้อยละ 30.0 ระบุว่าน้อย โดยผลการสำรวจเดือนก.พ.53 ประชาชนร้อยละ 70.7 เห็นว่าปัญหาด้านผู้ค้า หรือผู้ลักลอบค้ายาเสพติด มีเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเดือนก.พ.52 ซึ่งมีร้อยละ 63.9

2.2 ด้านผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ประชาชนร้อยละ 95.1 ระบุว่ามีปัญหา และร้อยละ 4.9 ระบุว่าไม่มีปัญหา โดยผู้ที่ระบุว่ามีปัญหาเห็นว่าปัญหาที่มีอยู่ในระดับมาก — มากที่สุดร้อยละ 13.8 (โดยรวมแล้วปัญหาที่มีอยู่ในระดับมากที่สุดร้อยละ 2.4 และมากร้อยละ 11.4) ส่วนร้อยละ 20.6 ระบุว่าค่อนข้างมาก ร้อยละ 24.9 ระบุว่าค่อนข้างน้อย และร้อยละ 35.8 ระบุว่าน้อย โดยผลการสำรวจในเดือนก.พ. 53 ประชาชนร้อยละ 95.1 และผลการสำรวจในเดือนก.พ.52 ประชาชนร้อยละ 95.2 เห็นว่ามีปัญหาด้านผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

2.3 การแพร่ระบาดยาเสพติดในโรงเรียน/สถานศึกษา ประชาชนร้อยละ 51.3 ระบุว่ามีปัญหา และร้อยละ 48.7 ระบุว่าไม่มีปัญหา โดยผู้ที่ระบุว่ามีปัญหาเห็นว่าปัญหาที่มีอยู่ในระดับมาก — มากที่สุด ร้อยละ 4.6 (โดยรวมแล้วปัญหาที่มีอยู่ในระดับมากที่สุดร้อยละ 0.6 และมากร้อยละ 4.0) ส่วนร้อยละ 8.5 ระบุว่าค่อนข้างมาก ร้อยละ 13.9 ระบุว่าค่อนข้างน้อย และร้อยละ 24.3 ระบุว่าน้อย โดยผลการสำรวจในเดือนก.พ. 53 ประชาชนร้อยละ 51.3 เห็นว่าปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในโรงเรียน/สถานศึกษาได้เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน เดือนก.พ.52 ซึ่งมีร้อยละ 19.2

3. ประชาชนร้อยละ 14.2 ระบุว่ามีผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้ว กลับไปใช้ยาเสพติดอีก ร้อยละ 45.3 ระบุไม่มี และร้อยละ 40.5 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ โดยผลการสำรวจในเดือนก.พ.52 ประชาชนร้อยละ 14.1 และผลการสำรวจในเดือนก.พ.ร้อยละ 14.2 เห็นว่ามีปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้ว กลับไปใช้ยาเสพติดอีกมีในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

4. ประชาชนร้อยละ 11.4 ระบุหาซื้อยาเสพติดง่าย ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 35.5 ระบุว่าหาซื้อไม่ได้ และร้อยละ 10.1 ระบุว่าหาซื้อยาก ส่วนอีกร้อยละ 43.0 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ โดยผลการสำรวจในเดือนก.พ.52 ประชาชนร้อยละ 11.4 ระบุหาซื้อยาเสพติดง่าย มีเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเดือนก.พ.52 ซึ่งมีร้อยละ 8.0

5. ประชาชนร้อยละ 74.1 ระบุว่ามีการยอมรับผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้ว/เลิก ยาเสพติดให้กลับสู่สังคม และร้อยละ 25.9 ระบุว่าไม่ยอมรับ โดยผู้ที่ยอมรับจะยอมรับอยู่ในระดับมาก - มากที่สุดร้อยละ 33.4 (โดยรวมแล้วการยอมรับที่อยู่ในระดับมากที่สุดมีร้อยละ 6.6 และมากร้อยละ 26.8) ปานกลางร้อยละ 37.7 และน้อยร้อยละ 3.0 โดยผลการสำรวจในเดือนก.พ. 53 ประชาชนร้อยละ 74.1 ระบุว่ามีการยอมรับผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดดังกล่าว ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเดือนก.พ.52 ซึ่งมีร้อยละ 82.4

6. การดำเนินมาตรการรั้วชุมชน : ในภาพรวมของการดำเนินงานด้านการป้องกันปัญหายาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน ประชาชนร้อยละ 60.4 ระบุว่ามีการดำเนินงาน และร้อยละ 15.0 ระบุว่าไม่มีการดำเนินงาน ส่วนร้อยละ 24.6 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ โดยผู้ที่เห็นว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นร้อยละ 24.8 ดีเหมือนเดิมร้อยละ 31.3 ส่วนผู้ที่เห็นว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงแย่เหมือนเดิมมีร้อยละ 4.0 และแย่ลงร้อยละ 0.3

7. การดำเนินมาตรการรั้วโรงเรียน : ในภาพรวมของการดำเนินงานด้านการป้องกันปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ประชาชนร้อยละ 63.1 ระบุว่ามีการดำเนินงาน และร้อยละ 10.1 ระบุว่าไม่มีการดำเนินงาน ส่วนร้อยละ 26.8 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ โดยผู้ที่เห็นว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ร้อยละ 28.5 ดีเหมือนเดิมร้อยละ 32.7 ส่วนผู้ที่เห็นว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงแย่เหมือนเดิมมีร้อยละ 1.7 และแย่ลงร้อยละ 0.2

8. การดำเนินมาตรการรั้วครอบครัว : ในภาพรวมของการดำเนินงานด้านการป้องกันปัญหายาเสพติดในครอบครัว ประชาชนร้อยละ 46.1 ระบุว่ามีการดำเนินงาน และร้อยละ 25.0 ระบุว่าไม่มีการดำเนินงาน ส่วนร้อยละ 28.9 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ โดยผู้ที่เห็นว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ร้อยละ 19.2 ดีเหมือนเดิมร้อยละ 25.0 ส่วนผู้ที่เห็นว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงแย่เหมือนเดิมมีร้อยละ 1.7 และแย่ลงร้อยละ 0.2

9. การดำเนินมาตรการรั้วสังคม : ในภาพรวมของการดำเนินงานด้านการปราบปรามยาเสพติด ประชาชนร้อยละ 46.9 ระบุว่ามีการดำเนินงาน และร้อยละ 26.3 ระบุว่าไม่มีการดำเนินงาน ส่วนร้อยละ 26.8 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ โดยผู้ที่เห็นว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ร้อยละ 18.3 ดีเหมือนเดิมร้อยละ 22.3 ส่วนผู้ที่เห็นว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงแย่เหมือนเดิมมีร้อยละ 5.4 และแย่ลงร้อยละ 0.9

ในขณะที่ภาพรวมของการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ประชาชนร้อยละ 28.8 ระบุว่ามีการดำเนินงาน และร้อยละ 33.8 ระบุว่าไม่มีการดำเนินงาน ส่วนร้อยละ 37.4 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ โดยผู้ที่เห็นว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นร้อยละ 11.0 ดีเหมือนเดิมร้อยละ 15.2 ส่วนผู้ที่เห็นว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงแย่เหมือนเดิมมีร้อยละ 2.3 และแย่ลงร้อยละ 0.3

10. การดำเนินมาตรการรั้วชายแดน : ในภาพรวมของการดำเนินงานด้านการป้องกันปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน ประชาชนร้อยละ 55.5 ระบุว่ามีการดำเนินงาน และร้อยละ 16.3 ระบุว่าไม่มีการดำเนินงาน ส่วนร้อยละ 28.2 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ โดยผู้ที่เห็นว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ร้อยละ 21.1 ดีเหมือนเดิมร้อยละ 27.1 ส่วนผู้ที่เห็นว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงแย่เหมือนเดิมมีร้อยละ 5.4 และแย่ลงร้อยละ 2.0

11. ประชาชนร้อยละ 3.7 ระบุว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐติดตาม ดูแล และให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอยู่ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 21.7 ระบุว่ามาก ร้อยละ 41.0 ระบุว่าปานกลาง และร้อยละ 18.7 ระบุว่าน้อยส่วนร้อยละ 14.9 ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ โดยผลการสำรวจในเดือนก.พ.53 ประชาชนร้อยละ 25.4 เห็นว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐมีการติดตาม ดูแล และให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอยู่ในระดับมาก — มากที่สุด พบว่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเดือนก.พ.52 ซึ่งมีร้อยละ 27.1 ส่วนเรื่องที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าไปกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน ผลการสำรวจในเดือนก.พ. 53 ประชาชนร้อยละ 8.6 ระบุว่ามี ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเดือนก.พ. 52 ซึ่งมีร้อยละ 5.5

12. ความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประชาชน ร้อยละ 97.7 ระบุว่าพึงพอใจ และร้อยละ 2.3 ระบุว่าไม่พึงพอใจ โดยผู้ที่พึงพอใจมีระดับความพึงพอใจมาก — มากที่สุด ร้อยละ 36.5 (โดยรวมแล้วความพึงพอใจที่มีอยู่ในระดับมากที่สุดมีร้อยละ 6.0 และมากร้อยละ 30.5) ปานกลางร้อยละ 43.4 และน้อยร้อยละ 17.8 เมื่อพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยของความพึงพอใจจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจด้วยคะแนนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากคะแนนเฉลี่ย 5.85 คะแนน (ก.พ.52) เป็นคะแนนเฉลี่ย 5.91 คะแนน (ก.พ.53)

13. ประชาชนร้อยละ 38.4 ได้แสดงความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกัน/แก้ไขปัญหายาเสพติด ดังนี้ การปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง (ร้อยละ 49.7) การใช้กฎหมายลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างเด็ดขาด (ร้อยละ 35.7) การจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด (ร้อยละ 7.0) การรณรงค์สร้าง จิตสำนึกให้ทุกฝ่าย (ร้อยละ 5.2) การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เรื่องยาเสพติด (ร้อยละ 4.9) และการลงโทษเจ้าหน้าที่ ที่ละเลยการปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด (ร้อยละ 4.7) เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ