(ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ พ.ศ. 2553 — 2555 (แผนระยะสั้น)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 12, 2010 16:59 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ พ.ศ. 2553 — 2555 (แผนระยะสั้น)

ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ พ.ศ. 2553 — 2555 (แผนระยะสั้น) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ตามที่กระทรวง สาธารณสุขเสนอ ส่วนกรอบวงเงินในการดำเนินงานให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ที่เห็นว่าในปีงบประมาณ 2553 — 2554 ให้ใช้จ่ายจากเงินกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ส่วนค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเสนอขอตั้งงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป และให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่า สธ. ได้ยกร่างแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ พ.ศ. 2553 — 2555 (แผนระยะสั้น) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 โดยกำหนดเป็นแผนระยะสั้น 3 ปี ซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้พิจารณาและเห็นชอบในหลักการแล้ว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2552 โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

1. กรอบนโยบาย

แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ จัดทำขึ้นตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มาตรา 57 ที่ให้มีการจัดทำแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรและถิ่นกำเนิดในเขตพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติและทิศทางการพัฒนาประเทศที่สำคัญ ดังนี้

1.1 ความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ที่มุ่งสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ โดยยึดหลักความพอเพียงของวิถีชีวิต และความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ การจัดการทรัพยากรโดยส่งเสริมสิทธิและกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากร

1.2 อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีเจตนารมณ์ในการสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ และคำนึงถึงความเป็นธรรมในการครองสิทธิ การเข้าถึง การใช้และการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม

1.3 แผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไทย สุขภาพวิถีไทย พ.ศ. 2550 — 2554 ที่กำหนดมาตรการคุ้มครองภูมิปัญญาไทยการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพร และการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชน ท้องถิ่นให้มีบทบาทในการคุ้มครองสมุนไพรและภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน

2. วิสัยทัศน์

ดำรง รักษา ระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพร ในพื้นที่เขตอนุรักษ์มิให้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์

3. วัตถุประสงค์

3.1 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่มีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติหรือมีความหลากหลายทางชีวภาพ

3.2 เพื่อกำหนดแผนงานและแนวทางการดำเนินงานในการกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่เขตอนุรักษ์ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและชุมชน และกำหนดวิธีการจัดการ ขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบในการประสานงานและร่วมมือดำเนินงานสำรวจ ศึกษาวิจัยสมุนไพรอย่างมีประสิทธิภาพ

3.3 เพื่อให้เกิดกระบวนการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ตามแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรอย่างเหมาะสม

3.4 เพื่อหารูปแบบหรือแนวทางของการจัดทำแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรที่เหมาะสมในการบริหารจัดการและนำไปประยุกต์ใช้สำหรับพื้นที่เขตอนุรักษ์อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ

4. แนวทางการดำเนินงาน

แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรและถิ่นกำเนิดของสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ฉบับนี้ เป็นแผนระยะสั้น เพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานระหว่างปี พ.ศ. 2553 — 2555 ในพื้นที่เป้าหมายที่มีลำดับความเร่งด่วน โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ดังต่อไปนี้

4.1 จัดทำแผนงานการกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้บุคคลใดเข้าไปในเขตอนุรักษ์ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติหรือคุณค่าของสมุนไพรหรือมิให้กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติหรือความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่บริเวณที่เป็นถิ่นกำเนิดของสมุนไพร

4.2 วางระบบการบริหารจัดการระดับพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณที่เป็นถิ่นกำเนิดของสมุนไพร รวมทั้งการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพ บทบาท และการมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่ายหมอพื้นบ้านในการคุ้มครองสมุนไพรและเพื่อประโยชน์ในการร่วมมือและประสานงานให้เกิดประสิทธิภาพในอันที่จะรักษาสภาพธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณค่าของสมุนไพรในพื้นที่บริเวณนั้น

4.3 ทำการสำรวจและศึกษาวิจัยสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรเพื่อประโยชน์ในการกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพร

4.4 ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม และวิเคราะห์การเข้าไปในเขตอนุรักษ์เพื่อประโยชน์ในการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

5. พื้นที่เป้าหมาย

การกำหนดพื้นที่เป้าหมาย พิจารณาจากหลักเกณฑ์และข้อมูลทางวิชาการ และสถานการณ์สมุนไพรในพื้นที่ที่ได้มาจากการสำรวจศึกษาวิจัยในพื้นที่นำร่องที่ดำเนินงานในช่วงปี 2551 — 2552 โดยคัดเลือกพื้นที่ที่ความสำคัญเร่งด่วน สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น คือ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สมุนไพร มีพืชสมุนไพรที่หายาก มีคุณค่าสมควรแก่การอนุรักษ์ และสนับสนุนการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีพืชสมุนไพรเฉพาะถิ่น หรืออยู่ในภาวะวิกฤติ มีการบุกรุกทำลายบริเวณถิ่นกำเนิด หรือมีการเก็บหาสมุนไพรในเขตอนุรักษ์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นอกจากนั้น ยังพิจารณาจากการมีส่วนร่วมและความพร้อมของภาครัฐ องค์กร และชุมชน เป็นต้น พื้นที่เป้าหมายการดำเนินงานในช่วงปี 2553 — 2555 ประกอบด้วย 4 พื้นที่ดังต่อไปนี้

5.1 พื้นที่ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

5.2 พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี

5.3 พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี

5.4 พื้นที่ป่าเขาสลัดได อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ