รายงานการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 12, 2010 17:21 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1

(The 1st Asia Ministerial Conference on Tiger Conservation : The 1 st AMC)

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1.รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรี เรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1

2.เห็นชอบปฏิญญาหัวหิน เรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่งและมอบหมายให้ ทส. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามปฏิญญาดังกล่าว

3.เห็นชอบให้มีการจัดงานรณรงค์เพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง โดยมอบหมายให้ ทส. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินกิจกรรม ในวันที่ 29 กรกฏาคม 2553

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. ทส. ได้ดำเนินการจัดการประชุมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 เรียบร้อยแล้ว โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง 13 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ เนปาล ภูฏาน อินเดีย พม่า จีน ลาว เวียดนาม กัมพูชา รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย รวมทั้ง เจ้าหน้าที่จากองค์กรเอกชน รวมทั้งหมด 200 คน การประชุมสรุปได้ ดังนี้

1.1 การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27 — 28 มกราคม 2553 ที่ประชุมได้เลือกผู้แทนประเทศไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช) เป็นประธานที่ประชุม ที่ประชุมมีการทบทวนสถานภาพและยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศในการอนุรักษ์เสือโคร่งรวมถึงการพิจารณาสาระสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์เสือโคร่ง

1.2 การประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันที่ 29 มกราคม 2553 ที่ประชุมได้เลือกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) เป็นประธานการประชุม โดยมีหัวข้อการประชุมสรุปได้ ดังนี้

1.2.1 กองทุนสัตว์ป่าได้แจ้งผลการพิจารณารางวัล J.Paul Getty Award for conservation ที่มีมติให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ ได้รับรางวัลเนื่องจากมีผลงานดีเด่นด้านการอนุรักษ์ พร้อมด้วยทุนจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเป็นทุนการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม

1.2.2 การนำเสนอทิศทางการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง 13 ประเทศ

1.2.3 พิจารณาให้ความเห็นชอบปฏิญญาหัวหิน เรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่ง

1.2.4 การจัดงานรณรงค์การอนุรักษ์เสือโคร่งของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง 13 ประเทศ พร้อมกันในวันที่ 29

1.3 การศึกษาดูงานเรื่อง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าในวันที่ 30 มกราคม 2553 ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

1.4 ประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการประชุม

เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในเวทีนานาชาติด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการอนุวัติให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ทำความตกลงไว้ เช่น อนุสัญญา CITES และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ

2. แนวทางการดำเนินงานของประเทศไทยหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชียด้านการอนุรักษ์ เสือโคร่ง ครั้งที่ 1

2.1 การปฏิบัติตามปฏิญญาหัวหินเรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่งซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางนโยบายและการเมืองของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่งเพื่อความร่วมมือในการอนุรักษ์เสือโคร่งในธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายเพิ่มประชากรเสือโคร่งทั่วโลกเป็นสองเท่าภายในปี พ.ศ.2565 ภายใต้ความร่วมมือและปฏิบัติการต่อประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

2.1.1 การจัดการแหล่งอาศัยของเสือโคร่งภายใต้ความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และ การพัฒนาพื้นที่ป่าอนุรักษ์

2.1.2 การป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการรณรงค์เพื่อลดค่านิยมในการบริโภคหรือใช้ชิ้นส่วนอวัยวะของเสือโคร่ง

2.1.3 การอนุรักษ์และจัดการพื้นที่อาศัยของเสือโคร่งบนพื้นฐานหลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์ มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการติดตามตรวจสอบสถานภาพประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อ

2.1.4 สนับสนุนให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบและในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้รับความช่วยเหลือให้สามารถดำรงชีพได้อย่างยั่งยืนและได้รับเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนเสือโคร่ง ตลอดจนผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ในแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง

2.1.5 ตรวจสอบและรวบรวมแหล่งทุนใหม่ๆ เพื่อขอรับการสนับสนุนด้านการเงิน ตลอดจนการสนับสนุนด้านอุปกรณ์เครื่องมือในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์เสือโคร่ง

2.1.6 สร้างความร่วมมือภายในและระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่งในการดำเนินการตามแผนการอนุรักษ์เสือโคร่งของแต่ละประเทศในระดับภูมิภาค อาทิเช่น การพัฒนาแผนเพื่อสร้างความร่วมมือในการพื้นที่แนวเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ประชากรเสือโคร่ง รวมถึงการเพิ่มความเข้มแข็งในการสร้างความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายในบริเวณพื้นที่ชายแดนที่เป็นเขตติดต่อระหว่างประเทศ

2.2 การปฏิบัติตามกรอบความร่วมมือนานาชาติอย่างต่อเนื่องโดยจัดส่งผู้แทนจากประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมสำคัญดังต่อไปนี้

2.2.1 การประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 15 (CoP 15) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 — 25 มีนาคม 2553 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งมีวาระที่ 43 เกี่ยวกับเสือโคร่ง

2.2.2 การประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 10 ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2553 ณ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น

2.2.3 การประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดเสือโลก (Pre-Summit Partner Dialogue) ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในเดือนมิถุนายน 2553

2.2.4 การประชุมสุดยอดเสือโลก ระหว่างวันที่ 9 — 12 กันยายน 2553 ณ เมือง Vladivostok สหพันธรัฐรัสเซีย โดยในวันที่ 12 กันยายน 2553 เป็นการประชุมในระดับผู้นำประเทศ

2.3 ทส.ได้จัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งของประเทศไทย ดังนี้

2.3.1 แผนงานระยะสั้น

1) ปรับปรุงแผนปฏิบัติการอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ (National Tiger Action Plan) ตามรายละเอียดที่เกิดจากผลการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1

2) เสริมสร้างความเข้มแข็งในมาตรฐานการจัดการเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งในพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่งที่สำคัญ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร โดยเน้นกิจกรรมที่มีผลต่อการอนุรักษ์เสือโคร่งโดยตรง เช่น ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) และการเสริมสร้างประสิทธิภาพให้กับชุดปราบอาชญากรรมด้านสัตว์ป่า (Wildlife Crime Units) รอบ ๆ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมถึงการนำเทคนิคที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจวัดประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ

3) รณรงค์และประชาสัมพันธ์การอนุรักษ์เสือโคร่งให้แก่ประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ ทราบ และสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว

2.3.2 แผนงานระยะยาว

1) จัดตั้งศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ณ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อสนับสนุนการลาดตระเวนในระดับพื้นที่และการจัดทำระบบฐานข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนผู้บริหารในการตัดสินใจและเป็นเครื่องมือในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรม

2) ดำเนินโครงการวิจัยระยะยาว เรื่อง นิเวศวิทยาและติดตามประชากรเสือโคร่งและสัตว์ที่เป็นเหยื่อ (Long Term Research Project on Tiger and their Prey) ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

3) พื้นฟูประชากรของเสือโคร่งให้เพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2565 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1 โดยขยายมาตรฐานการจัดการเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งออกไปให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตกและกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยใช้เทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพและระบบการตรวจวัดประชากรเสือโคร่งเพื่อยกมาตรฐานการป้องกันรักษาประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูประชากรของสัตว์ป่าเหล่านั้น

4) จัดตั้งศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ด้านสัตว์ป่า (Wildlife Forensic Center) ณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเป็นหน่วยงานวิจัยด้านสัตว์ป่าที่ใช้นิติวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานเพื่ออนุวัติอนุสัญญา CITES

2.4 การประสานความร่วมมือและการดำเนินงานในระดับภูมิภาค

2.4.1 สร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงาน ASEAN WEN (ASEAN Wildlife Enforcement Network) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการลักลอบค้าพืชป่าและสัตว์ป่าระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน

2.4.2 ขยายเครือข่ายการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใน ASEAN ให้ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชีย (Asia Wildlife Enforcement Network : Asia WEN) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการสืบสวนอาชญากรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าและความร่วมมือในการดำเนินคดี

2.4.3 การจัดตั้ง Global Tiger Council เพื่อกำกับดูแลนโยบายในการอนุรักษ์เสือโคร่งของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่งทั้ง 13 ประเทศ

2.4.4 ดำเนินการร่วมกับสถาบัน องค์กรเอกชน และองค์กรอนุรักษ์ในระดับนานาชาติ จัดตั้งศูนย์วิจัยและจัดการเสือโคร่งแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Regional Tiger Research and Management Center) ณ พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการวิจัยและการจัดการเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งให้แก่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูประชากรของเสือโคร่ง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ