คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
กระทรวงการคลังเสนอว่า
1. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2538 และหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการตรวจสอบในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2543 ได้มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานานและมีข้อปฏิบัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับสมาคมผู้ตรวจสอบภายในระหว่างประเทศ (The Institute of Internal Auditors: IIA) ได้ประกาศมาตรฐานสากลการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายใน พ.ศ. 2552 (International Standards for the Professional Practice of Internal Auditing 2009) เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์สำหรับการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายใน ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้อ้างอิงในประเทศต่างๆ
2. เพื่อยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจจึงได้ดำเนินการยกร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... โดยปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีและระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการตรวจสอบภายในที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเทียบเคียงกับแนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการตรวจสอบและการตรวจสอบภายในของภาคราชการและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน พ.ศ. 2549 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แนวปฏิบัติธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวทางการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในของสถาบันการเงิน หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ OECD ปี 2548 และมาตรฐานสากลการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายใน พ.ศ. 2552 ของ IIA เป็นต้น
3. ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างระเบียบในเรื่องนี้ ประกอบด้วยคณะกรรมการตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 180 คน และได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการสัมมนามาปรับปรุงร่างระเบียบดังกล่าวให้มีความชัดเจน ครอบคลุมรายละเอียดอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
1. ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2538 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543 เรื่องหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการตรวจสอบในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2543 (ร่างข้อ 3)
2. หมวด 1 กำหนดคำนิยามให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และกำหนดให้ระเบียบนี้ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมทั้งรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป (ร่างข้อ 5 และร่างข้อ 6)
3. หมวด 2 กำหนดเรื่องคณะกรรมการตรวจสอบ เป็น 6 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 องค์ประกอบ การแต่งตั้ง และค่าตอบแทน ส่วนที่ 2 คุณสมบัติของกรรมการตรวจสอบ ส่วนที่ 3 การประชุม ส่วนที่ 4 หน้าที่ความรับผิดชอบ ส่วนที่ 5 การรายงานผลการดำเนินงาน และส่วนที่ 6 การรักษาคุณภาพงาน (ร่างข้อ 7 ถึงร่างข้อ 24)
4. หมวด 3 กำหนดเรื่อง หน่วยงานตรวจสอบภายใน เป็น 6 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 คุณสมบัติของผู้ตรวจสอบภายใน ส่วนที่ 2 โครงสร้างหน่วยตรวจสอบภายใน ส่วนที่ 3 ความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหาร ส่วนที่ 4 หน้าที่ความรับผิดชอบ ส่วนที่ 5 การปฏิบัติงานและการรายงาน และส่วนที่ 6 การรักษาคุณภาพงาน (ร่างข้อ 25 ถึง ร่างข้อ 39)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 พฤษภาคม 2553--จบ--