รายงานผลการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 24, 2010 15:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรเสนอ ดังนี้

1. ผลการติดตาม และตรวจสอบในพื้นที่โดยใช้ข้อมูลรายงานและแผนที่พื้นที่ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 จากภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เปรียบเทียบกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรโดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันระหว่างข้อมูลเปรียบเทียบเกินกว่าร้อยละ 20

2. ผลการตรวจติดตามของคณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรในระดับพื้นที่

3. สรุปผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2

4. ข้อค้นพบ ปัญหาและข้อเสนอแนะ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ

ทั้งนี้ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการด้วย

การดำเนินการ

คณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร ขอรายงานผลการดำเนินงาน และผลการตรวจติดตามของคณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรในระดับพื้นที่ ระหว่างวันที่ 8-25 เมษายน 2553 สรุปได้ดังนี้

1. การเปรียบเทียบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร คณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร ได้นำข้อมูลรายงานและแผนที่พื้นที่ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จำนวน 62 จังหวัด (ยกเว้นภาคใต้อยู่ระหว่างการสำรวจ) จากภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : (สทอภ.) เปรียบเทียบกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และได้แจ้งให้คณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรในระดับพื้นที่ ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการติดตาม และตรวจสอบในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันระหว่างข้อมูลเปรียบเทียบเกินกว่าร้อยละ 20 ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวมีจังหวัดที่มีความแตกต่างเกินร้อยละ 20 จำนวนทั้งสิ้น 29 จังหวัด ในเบื้องต้นคณะอนุกรมการฯ คณะที่ 4 ได้ลงไปตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และประจวบคีรีขันธ์ คณะที่ 11 ได้ลงไปตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร และนครสวรรค์ คณะที่ 12 ได้ลงไปตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดตาก และคณะที่ 39 ได้ลงไปตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ พบสาเหตุความคลาดเคลื่อนเกิดจาก

1) ช่วงเวลาการบันทึกภาพของ สทอภ. อาจไม่ใช่ช่วงเวลาในการปลูกข้าวในบางพื้นที่

2) การถ่ายภาพเพื่อประเมินพื้นที่เพาะปลูกพืชแต่ละชนิด สมควรที่จะถ่ายภาพในฤดูเพาะปลูกและมีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่แล้วเพื่อให้ได้ข้อมูลภาพถ่ายที่ตรงตามสภาพการณ์เพาะปลูกพืชชนิดนั้นอย่างแท้จริง

คณะอนุกรรมการฯ คณะที่ 12 ได้มีมติให้จังหวัดตากตรวจสอบข้อมูลที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับขอให้จังหวัดสั่งการให้คณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลจัดทำบันทึกการตรวจสอบการสุ่มตรวจพื้นที่จริงร้อยละ 10 ของจำนวนแปลงที่มีการทำประชาคมไว้เป็นหลักฐานและตรวจสอบข้อมูลอื่นๆ เพื่อใช้ประกอบในการติดตามผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ

ทั้งนี้ จักได้รวบรวมผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการคณะต่างๆ และรายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป

2. รายงานผลการตรวจติดตามของคณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรในระดับพื้นที่ ช่วงที่สอง

2.1 สรุปรายงานผลการตรวจติดตาม คณะอนุกรรมการติดตาม ฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามช่วงที่สองเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 เป็นต้นไป โดยคณะอนุกรรมการฯ คณะที่ 1-5 คณะที่ 8 คณะที่ 11 และคณะที่ 12 ซึ่งมีผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการฯ ได้ติดตามในพื้นที่จังหวัดตราด นนทบุรี ปทุมธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร นครสวรรค์ ตาก และสุโขทัย คณะที่ 13 คณะที่ 14 คณะที่ 16 คณะที่ 17 และคณะที่ 20-24 โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน อนุกรรมการฯ ได้ติดตามในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ศรีสะเกษ สงขลา ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยนาท ลำปาง มุกดาหาร กาญจนบุรี พังงา ภูเก็ต และปราจีนบุรี คณะที่ 28 คณะที่ 31 และคณะที่ 35 โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ๆได้ติดตามในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชัยภูมิ และนครปฐม คณะที่ 36 คณะที่ 39 และคณะที่ 41 โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ได้ติดตามในพื้นที่จังหวัดพะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ และสุราษฎร์ธานี

2.2 การสอบถามความเข้าใจและความพึงพอใจของเกษตรกรต่อโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 จากการที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการตรวจติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร ช่วงที่สอง โดยมีการพบปะและสอบถามเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดต่างๆ รวม 25 จังหวัด 30 อำเภอ จำนวน 710 ราย พบว่า

  • ความเข้าใจและความพึงพอใจในโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 เกษตรกรส่วนใหญ่มีความเข้าใจในโครงการ จำนวน 582 ราย และไม่เข้าใจในโครงการ จำนวน 62 ราย มีความพึงพอใจต่อโครงการมาก จำนวน 258 ราย พึงพอใจปานกลาง จำนวน 282 ราย พึงพอใจน้อยและไม่พึงพอใจ จำนวน 147 ราย
  • การทำประชาคม มีเกษตรกรเข้าร่วมทำประชาคม จำนวน 671 ราย ไม่เข้าร่วมทำประชาคม จำนวน 15 ราย เป็นผู้ที่ประชาคมคัดค้าน จำนวน 43 ราย ไม่ถูกคัดค้าน จำนวน 660 ราย และมีคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลไปสุ่มตรวจสอบในพื้นที่ จำนวน 454 ราย ไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลไปสุ่มตรวจสอบในพื้นที่ จำนวน 213 ราย

3. ข้อค้นพบ ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร และคณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรในระดับพื้นที่ มีดังนี้

3.1 ราคาตามเกณฑ์อ้างอิงสูงกว่าราคาที่โรงสีรับซื้อจริง คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ควรเร่งพิจารณาปรับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงให้สะท้อนความเป็นจริงและใกล้เคียงกับราคาตลาดโดยเร็ว ควรมีตลาดกลางข้าวเปลือกหรือท่าข้าวเอกชน เพื่อมาช่วยพัฒนาระบบกลไกตลาดข้าวเปลือกและดำเนินการควบคู่ไปกับการเปิดจุดตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรให้มากขึ้น โดยอาจต้องสร้างแรงจูงใจ โดยการให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่โรงสีที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ค่าอบข้าวเปลือก เป็นต้น นอกจากนี้ อาจให้สถาบันเกษตรกร เช่น โรงสีของสหกรณ์การเกษตร หรือตลาดของสหกรณ์การเกษตรที่ประกอบธุรกิจในการรับซื้อข้าว เข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งจุดรับซื้อด้วย โดยอาจมีการปรับลดวงเงินค้ำประกันกรณีที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับหลักเกณฑ์และวิธีการในการคำนวณเกณฑ์กลางอ้างอิง เพื่อให้สอดคล้องใกล้เคียงกับราคาที่เกษตรกรขายได้ในปัจุบัน

3.2 การทำประชาคม และการสุ่มตรวจสอบพื้นที่ของคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบล ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ คู่มือ และการรายงานผลการตรวจสอบ โดยจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบล รายงานผลการตรวจสอบพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัดทราบหลังจากสุ่มตรวจสอบพื้นที่เสร็จ (พร้อมบัญชีรายชื่อเกษตรกรที่ไปสุ่มตรวจสอบพื้นที่) ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลให้ปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัด อันเป็นการป้องกันและป้องปรามการกระทำที่ไม่สุจริต

3.3 การใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ในการเปรียบเทียบกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการทำประชาคมของเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 จากการตรวจสอบติดตามของคณะอนุกรรมการฯ พบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดยังไม่ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ได้ดำเนินการจัดทำประชาคมและออกใบรับรองให้เกษตรกรแล้วเกินกว่าร้อยละ 90 ทำให้การใช้ประโยชน์ในข้อมูลอาจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ดังนั้นในการดำเนินโครงการระยะต่อไปหากมีการใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ควรเร่งดำเนินการจัดทำข้อมูลการแปลผลจากภาพถ่ายดาวเทียมส่งให้จังหวัดต่าง ๆ เพื่อคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลใช้ประโยชน์ในช่วงการจัดทำประชาคม และสุ่มตรวจสอบพื้นที่จริง

3.4 ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ตามมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เห็นชอบยืนยันการกำหนดผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของข้าวแต่ละชนิด รายจังหวัด ตามที่คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่ชาติด้านการผลิตได้ทบทวนแล้ว แต่จากการติดตามของคณะอนุกรรมการฯ ได้ติดตามในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์พบว่า เกษตรกร จำนวน 3,600 ราย ปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ซึ่งคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิตมิได้ระบุผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ไว้ เกษตรกรเกรงว่าจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ กรณีดังกล่าวจังหวัดได้ทำหนังสือหารือไปยังคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิตแล้ว แต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการฯ แต่อย่างใด นอกจากนี้ ควรมีการทบทวนการกำหนดพื้นที่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ในการปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดที่ต่ำกว่าความเป็นจริงให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง อย่างน้อยควรกำหนดเกณฑ์ผลผลิตต่อไร่ของจังหวัดไม่น้อยกว่าผลผลิตต่อไร่ระดับภาค

3.5 ด้านการชลประทาน การจัดส่งน้ำของชลประทานล่าช้า ทำให้เกษตรกรเพาะปลูกล่าช้า และมีผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ควรมีการจัดระบบการจัดสรรน้ำให้เหมาะสมกับฤดูกาลทำนาของเกษตรกร

3.6 การพัฒนาระบบการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ ควรมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตข้าวให้มีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การลดต้นทุนการผลิตข้าว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันที่ดีแก่เกษตรกรในระยะยาวโดยไม่ต้องอาศัยโครงการประกันรายได้เกษตรกรหรือโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเพื่อช่วยเกษตรกร

3.7 การส่งเสริมการปลูกข้าวที่มีความต้านทานต่อโรค ปัจจุบันพบว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่มักประสบปัญหาโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งมีผลทำให้ผลผลิตและคุณภาพข้าวตกต่ำลงทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าวควรประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสูงและให้ผลผลิตต่อไร่สูง และจากการตรวจติดตามในพื้นที่พบว่า เกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์ที่ประสบปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในนาข้าว ปี 2552-53 ในช่วงเดือนตุลาคม — เดือนธันวาคม 2552 ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประกอบกับปัจุบันราคาข้าวค่อนข้างตกต่ำ กรมส่งเสริมการเกษตรควรเร่งรัดติดตามในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยให้ได้รับเงินช่วยเหลือโดยเร็ว ทั้งนี้ นอกจากเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือที่เร็วขึ้นแล้ว ยังเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในภาวะที่ราคาข้าวตกต่ำได้อีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ยังคงมีปัญหาการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องควรรับไปดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น การขึ้นทะเบียน การทำประชาคม การออกใบรับรอง ระบบสารสนเทศ การทำสัญญา การประชาสัมพันธ์ ด้านงบประมาณในการดำเนินงานและสถานการณ์ราคารับซื้อผลผลิตในพื้นที่กับราคาเกณฑ์อ้างอิง

4. สรุปผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 ผลความก้าวหน้าการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 จำนวน 62 จังหวัด (ยกเว้นภาคใต้) ณ วันที่ 30 เมษายน 2553 สรุปได้ดังนี้

                          ภาคกลาง   ภาคตะวันตก   ภาคตะวันออก  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ        ภาคเหนือ            รวม
1) ฐานข้อมูล สศก.            97,409      89,545       21,352              96,111        151,725        456,142
ปี 51/52 (ครัวเรือน)
2) ผลการขึ้นทะเบียน          112,363      98,138       28,135             282,000        291,272        811,908
(ครัวเรือน) ร้อยละของ         115.35      109.59       131.76              293.41         191.97         177.99
เป้าหมาย
3) ผลการทำประชาคม         111,564      97,739       27,531             280,165        290,454        807,453
(ครัวเรือน) ร้อยละของ          92.29       99.59        97.85               99.34          99.71          99.45
การขึ้นทะเบียน
4) ผลการออก               111,413      97,123       27,317             277,228        287,134        800,215
ใบรับรอง (ครัวเรือน)           99.86       99.36        99.22               98.95          98.85           99.1
ร้อยละของการทำ
ประชาคม
5) ธ.ก.ส. จัดทำ             83,356      46,753       17,084             140,428        172,816        460,437
สัญญา (ราย) ร้อยละ            74.81       48.13        62.53               50.65          60.18          57.53
ของการออกใบรับรอง
6) การใช้สิทธิของ             46,245      24,957        9,277              22,583         62,728        165,790
เกษตรกร (ราย)               55.48       53.38         54.3               16.08           36.3          36.01
ร้อยละของการทำสัญญา
7) จำนวนเงินชดเชย      805,549,670 473,037,649  161,533,944         127,453,911  1,101,592,158  2,669,167,332
(บาท)

ทีมา : ประมวลข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส. ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2553

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ