แนวทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 24, 2010 16:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ส่วนการระบายจำหน่ายแก่เอกชนเพื่อส่งออก จำนวนไม่เกิน 100,000 ตัน นั้น ให้กระทรวงพาณิชย์ถือปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ กขช. เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 อย่างเคร่งครัด

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า

1. โครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือก

1.1 มอบหมายให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เร่งรัดเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกตามโครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือก และให้มีการรับซื้อจริงจากเกษตรกร โดยเปิดจุดเพิ่มขึ้นให้ทั่วถึง และครอบคลุมพื้นที่ที่ผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังกำลังออกสู่ตลาด โดยดำเนินการเปิดจุดรับซื้อเพิ่มขึ้นให้เสร็จสิ้นภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่มีมติ

1.2 มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับซื้อข้าวเปลือกของรัฐบาลระดับจังหวัดกำกับดูแลให้มีการเปิดจุดและรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรตามโครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกอย่างใดกล้ชิด และรายงานผลการรับซื้อ รวมทั้งราคาข้าวที่มีการซื้อขายในตลาดให้ฝ่ายเลขานุการทราบทุกวันและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้ทราบอย่างทั่วถึง

1.3 เห็นชอบให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือก สีแปรสภาพข้าวเปลือกที่ อคส./ อ.ต.ก. รับซื้อไว้เป็นข้าวสารตามเงื่อนไขที่กำหนด กล่าวคือ เมื่อโรงสีรับซื้อข้าวเปลือก ตั้งแต่ 1,000 ตันขึ้นไป ให้สีแปรสภาพเป็นข้าวสารในอัตราร้อยละ 30 โดยให้ค่าสีแผนสภาพ ตันละ 500 บาท และเก็บข้าวสารไว้ในโกดังกลางของ อคส./อ.ต.ก. เพื่อให้โรงสีมีการหมุนเวียนรับซื้อข้าวเปลือกได้เพิ่มขึ้น เพื่อดึงอุปทานส่วนเกินจำนวนหนึ่งออกจากตลาด ทั้งนี้ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการสีแปรสภาพให้รอบคอบและรัดกุมต่อไป

1.4 เห็นชอบให้เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการดำเนินการกำกับดูแลการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกของรัฐบาล ให้สามารถสั่งสีแปรสภาพข้าวเปลือกที่รับซื้อไว้ตามโครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกได้ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนัยมติข้างต้น

2. มาตรการให้ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกนาปรังฤดูใหม่เพื่อสีแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้วนำมาแลกข้าวสารนาปรังเก่าในสต็อกของรัฐบาล

เห็นชอบมาตรการให้ผู้ประอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกนาปรังฤดูใหม่เพื่อสีแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้วนำมาแลกข้าวสารนาปรังเก่าในสต็อกของรัฐบาล โดยผู้ประกอบการค้าข้าวจะต้องซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่กำลังออกสู่ตลาดในฤดูการผลิตข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2553 ตั้งแต่ เมษายน — กรกฎาคม 2553 ตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิงในแตละช่วงเวลาบวกเพิ่มอีกตันละ 300 บาท และจะต้องมีหลักฐานเอกสารมาแสดงว่าได้มีการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในฤดูการผลิตข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2553 จริง โดยข้าวสารที่นำมาแลกเปลี่ยนดังกล่าวจะต้องเป็นข้าวชนิดเดียวกันในฤดูการผลิตเดียวกัน เช่น ข้าวนาปรังฤดูการผลิต ปี 2553 แลกกับข้าวนาปรังฤดูการผลิต ปี 2551 เป็นต้น ในอัตราแลกเปลี่ยนข้าวสารใหม่กับข้าวสารเก่า 1:1 เป้าหมายเบื้องต้น จำนวน 300,000 ตัน ระยะเวลาดำเนินการเดือนเมษายน — กรกฎาคม 2553 ทั้งนี้ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อคส. และอ.ต.ก. กำหนดหลักเกณฑ์แลกเปลี่ยนข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี อคส. และ อ.ต.ก. เป็นผู้แทนในการกำกับดูแลและสุ่มตรวจสอบการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรและการส่งมอบข้าวสารใหม่ที่ผู้ประกอบการจะนำมาแลกเปลี่ยนเข้าเก็บในโกดังกลางของ อคส.และ อ.ต.ก. และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) พิจารณาอนุมัติค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างผู้ตรวจสอบคุณภาพที่ได้มาตรฐาน เพื่อตรวจสอบคุณภาพข้าวใหม่ที่จะนำเข้าเก็บในโกดังกลาง วงเงินประมาณ 5 ล้านบาท

3. การระบายจำหน่ายข้าวในสต็อกรัฐบาล

3.1 เห็นชอบในหลักการให้พิจารณาระบายจำหน่ายข้าวในสต็อกรัฐบาลในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลในราคามิตรภาพในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม โดยระบายไปตลาดต่างประเทศที่นอกเหนือตลาดปกติของ ผู้ส่งออกข้าว เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อธุรกิจของผู้ประกอบการค้าข้าวหรือให้แรงจูงใจผู้ส่งออกเร่งหาตลาดใหม่ และขายข้าวส่งออกในราคาที่สูงขึ้น ทั้งนี้ การระบายจำหน่ายข้าวในสต็อกรัฐบาลดังกล่าวจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้วงการค้าข้าวเกิดความปั่นป่วนขึ้นได้

3.2 มอบหมายให้รัฐมนตรีว่การกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองประธาน กขช. พิจารณาจำหน่ายข้าวสารในสต็อกรัฐบาล ในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลตามหลักการที่กำหนดไว้ ในราคา ปริมาณ และระยะเวลาที่เหมาะสม ด้วยความระมัดระวังมิให้กระทบต่อระบบตลาด ครั้งละไม่เกิน 300,000 ตัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ