การใช้ประโยชน์ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 26, 2010 13:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการนำข้อมูลจากโครงการ “การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อติดตามและประเมินพื้นที่ข้าว ปี 2552 / 53 รอบที่ 2” ไปใช้ประโยชน์ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

1. ความเป็นมา

คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินโครงการ “การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อติดตามและประเมินพื้นที่ข้าว ปี 2552 / 53 รอบที่ 2” เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำไปใช้ในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลในโครงการประกันรายได้เกษตรกร

2. ข้อเท็จจริง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำข้อมูลจากโครงการ “การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อติดตามและประเมินพื้นที่ข้าว ปี 2552 / 53 รอบที่ 2” ไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกข้าว ในโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยการดำเนินการพบข้อเท็จจริง ดังนี้

2.1 การตรวจสอบข้อมูล

1) การตรวจสอบเปรียบเทียบข้อมูลในระดับแปลง

ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาตราส่วน 1:25,000 เป็นข้อมูลที่มีความละเอียด แต่ไม่สามารถนำไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับข้อมูลการทำประชาคมที่ขึ้นทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกข้าวของเกษตรกรเป็นรายครัวเรือนได้ เพราะไม่มีขอบเขตแปลงที่ดินของเกษตรกรในรูปของแผนที่ สำหรับนำมาซ้อนทับกับข้อมูล ภูมิสารสนเทศ เพื่อทำการเปรียบเทียบในระดับรายแปลง

2) การตรวจสอบเปรียบเทียบกับข้อมูลในระดับตำบล

ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มีรายละเอียดของข้อมูลถึงระดับตำบล แต่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ทั้งหมด เนื่องจากบางขอบเขตตำบลในแผนที่ไม่สอดคล้องกับขอบเขตจริงในภาคพื้นดิน ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่คำนวณได้คลาดเคลื่อน อีกทั้งยังพบว่า ในพื้นที่ระดับตำบลบางพื้นที่มีข้อมูลการขึ้นทะเบียนแต่ไม่พบพื้นที่เพาะปลูกในการจำแนกจากข้อมูลภูมิสารสนเทศ

3) การตรวจสอบเปรียบเทียบข้อมูลในระดับอำเภอ และจังหวัด

การตรวจสอบเปรียบเทียบข้อมูล ระหว่างพื้นที่เพาะปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในระดับอำเภอและจังหวัด (ยกเว้นภาคใต้) สามารถดำเนินการและเป็นที่ยอมรับได้ เนื่องจากมีข้อมูลแผนที่ขอบเขตการปกครองที่มีมาตรฐานในการคำนวณเนื้อที่ ซึ่งผลของการตรวจสอบเปรียบเทียบ พบว่าข้อมูลมีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง โดยมีจังหวัดที่มีเนื้อที่แตกต่างกันมากกว่าร้อยละ 20 จำนวน 34 จังหวัด จาก 62 จังหวัด ซึ่งวิเคราะห์ถึงสาเหตุหลักในความแตกต่างได้ ดังนี้

3.1) ความแตกต่างในช่วงระยะเวลา โดยข้อมูลการขึ้นทะเบียนในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 ครอบคลุมการขึ้นทะเบียนถึงวันที่ 30 เมษายน 2553 (1 พ.ย. 2552 — 30 เมษายน 2553) แต่ข้อมูลดาวเทียมที่ใช้ในการจำแนกพื้นที่เพาะปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 ครอบคลุมเพียงเดือน มีนาคม 2553 และในบางพื้นที่ครอบคลุมเพียงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เท่านั้น ทำให้ข้อมูลมีความแตกต่างกันสูง

3.2) การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล โดยข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกจากการขึ้นทะเบียนอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงในภาคสนาม และข้อมูลเนื้อที่เพาะปลูกจากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศยังไม่ได้ทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (Map accuracy) ที่ทำการแปลและวิเคราะห์เพื่อจำแนกเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 ว่ามีความถูกต้องน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด เป็นต้น

3.3) ความครบถ้วนของข้อมูล ในบางพื้นที่ไม่สามารถจำแนกข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้ในกรณีที่พื้นที่บริเวณนั้นมีเมฆปกคลุม ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการใช้ข้อมูลดาวเทียม ทำให้ผลตรวจสอบเปรียบเทียบข้อมูลของพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกันสูง

2.2 ข้อคิดเห็น

จากผลการตรวจสอบดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าการนำข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศไปใช้ในระดับของข้อมูลรายแปลงและรายตำบลยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวในระดับอำเภอและระดับจังหวัด สำหรับเป็นฐานข้อมูลเชิงพื้นที่สำหรับตรวจสอบพื้นที่เกษตรกรรม จึงมีความต้องการขอให้สนับสนุนข้อมูลต่อไป รวมทั้งข้อมูลในลักษณะเดียวกันของสินค้าอื่นที่อยู่ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลด้วย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ