คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 4/2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญ
ตามที่ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งมีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ได้มีการประชุมครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 เวลา 14.00-16.00 น. ณ ห้องประชุมเดช สนิทวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นั้น ขอสรุปผลการประชุมคณะกรรมการฯ ดังนี้
1. ความเห็นของคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับการติดตามประเมินผลภาคสนามโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 คณะกรรมการฯ มีความเห็นเกี่ยวกับติดตามประเมินผลภาคสนามโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการประกันรายได้เกษตรกร โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และโครงการเพิ่มทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ดังนี้
1.1 การประเมินผลโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลที่จัดเก็บได้ นอกเหนือจากการประมวลผลข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม รวมทั้งอาจประเมินผลในลักษณะการเปรียบเทียบระหว่าง 2 กรณี ได้แก่ กรณีดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และกรณีไม่ดำเนินโครงการ ตลอดจนพิจารณาความสอดคล้องระหว่างผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น โครงการถนนไร้ฝุ่น ควรพิจารณาว่ามีการจ้างงานประชาชนในพื้นที่และโครงการสามารถตอบสนองความต้องการใช้ถนนของประชาชนหรือไม่ เป็นต้น
1.2 การประเมินผลโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ควรดำเนินการในส่วนที่ได้รับอนุมัติเพิ่มเติมภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และได้รับการจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 19,559.20 ล้านบาท เพื่อให้ทราบถึงผลประโยชน์ของโครงการที่ประชาชนได้รับจากการดำเนินแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
1.3 การพิจารณาผลการดำเนินงานที่แล้วเสร็จเปรียบเทียบกับผลการเบิกจ่าย มีข้อสังเกตว่า หากการดำเนินโครงการมีลักษณะเป็นงานจ้างเหมา อาจทำให้มีการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าจำนวนมากเพื่อจัดซื้อวัสดุ และอุปกรณ์ในการก่อสร้าง ในขณะที่ผลการดำเนินงานตามแผนยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น การประเมินผลการดำเนินงานเปรียบเทียบกับผลการเบิกจ่ายจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงลักษณะของงานอย่างละเอียด เพื่อให้การประเมินผลสะท้อนข้อเท็จจริงได้ดียิ่งขึ้น
1.4 โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 บางโครงการ มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการจัดเก็บข้อมูลของโครงการอยู่แล้ว เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งจัดเก็บข้อมูลโดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งฝ่ายเลขานุการอาจนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ก่อนการสำรวจพื้นที่ภาคสนาม เพื่อช่วยให้สามารถกำหนดพื้นที่สำรวจภาคสนามได้อย่างเหมาะสม เช่น พื้นที่ที่โครงการประสบความสำเร็จ/ล้มเหลว และพื้นที่ที่มีความผิดปกติ เป็นต้น
2. การขับเคลื่อนการลงทุนระยะต่อไป คณะกรรมการฯ มีความเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการลงทุนระยะต่อไป ดังนี้
2.1 ขณะนี้ แหล่งเงินลงทุนเพื่อดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในครั้งแรกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการจึงควรทบทวนแหล่งเงินลงทุนโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 อีกครั้ง รวมทั้งจัดทำรายชื่อโครงการที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. ... วงเงิน 400,000 บาท เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงานต่อไป
2.2 การกู้เงินต่างประเทศจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการอาจมีความเสี่ยงในหลายด้าน เช่น ความซ้ำซ้อนของการใช้เงินที่อาจเกิดขึ้นจากการมีแหล่งเงินลงทุนจากหลายแหล่ง อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงควรพิจารณาประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ การนำเงินกู้ต่างประเทศมาใช้ในการลงทุนโครงการ ควรพิจารณาจัดสรรให้กับโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการก่อน เพื่อให้การใช้เงินเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
2.3 นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า แนวทางการดำเนินการในระยะต่อไปของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จะกลับเข้าสู่การจัดสรรงบประมาณตามระบบงบประมาณปกติ และเงินกู้ต่างประเทศตามขั้นตอนปกติแล้ว ซึ่งสำนักงบประมาณและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีกลไกการติดตามประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณและเงินกู้ที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ดังนั้น การติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของคณะกรรมการฯ อาจพิจารณาติดตามประเมินผลเฉพาะโครงการที่ได้รับจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 349,960.44 ล้านบาท
2.4 แม้ว่าขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการกำหนดกรอบระยะเวลา การจัดสรรเงิน และการลงนามสัญญาสำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ โดยหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการจะต้องส่งข้อมูลให้สำนักงบประมาณพิจารณาเพื่อขอจัดสรรเงินภายใน 15 วันทำการ โดยสำนักงบประมาณจะอนุมัติภายใน 15 วันทำการ และหลังจากได้รับอนุมัติแล้ว หน่วยงานจะต้องลงนามในสัญญาภายใน 15 วันทำการ อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำหนดขอบเขตระยะเวลาที่ชัดเจนที่หน่วยงานดำเนินโครงการจะสามารถขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการต่อคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามกรอบเวลาและบรรลุวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลกำหนดไว้
2.5 ขณะนี้ มีหลายโครงการที่ได้รับจัดสรรเงินกู้แล้ว แต่ประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินโครงการได้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เกิดความล่าช้า ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการจึงควรรวบรวมรายชื่อและวงเงินโครงการที่ประสบปัญหา และพิจารณาความเป็นไปได้ในการชะลอการดำเนินโครงการ เพื่อนำเงินคงเหลือมาจัดสรรให้กับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันทีและมีความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงแทน เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นต้น
3. สรุปมติคณะกรรมการฯ
3.1 การดำเนินการในระยะต่อไปของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จะกลับเข้าสู่การจัดสรรงบประมาณตามระบบงบประมาณปกติ และเงินกู้ต่างประเทศตามขั้นตอนปกติ ซึ่งสำนักงบประมาณและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีกลไกการติดตามประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณและเงินกู้ที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ดังนั้น การติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของคณะกรรมการฯ จะพิจารณาติดตามประเมินผลเฉพาะโครงการที่ได้รับจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 349,960.44 ล้านบาท
3.2 มอบหมายฝ่ายเลขานุการดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ดังนี้
3.2.1 ปรับปรุงการติดตามประเมินผลภาคสนามโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ดังนี้
(1) ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลที่จัดเก็บได้ นอกเหนือจากการประมวลผลข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม รวมทั้งประเมินผลในลักษณะการเปรียบเทียบระหว่าง 2 กรณี ได้แก่ กรณีดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และกรณีไม่ดำเนินโครงการ ตลอดจนพิจารณาความสอดคล้องระหว่างผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้
(2) ประเมินผลโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในส่วนที่ได้รับอนุมัติเพิ่มเติมภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และได้รับการจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 19,559.20 ล้านบาท เพื่อให้ทราบถึงผลประโยชน์ของโครงการที่ประชาชนได้รับจากการดำเนินแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
(3) นำข้อมูลจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการจัดเก็บข้อมูลโครงการอยู่แล้ว เช่น สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งจัดเก็บข้อมูลโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นต้น มาใช้ประกอบการวิเคราะห์ก่อนการสำรวจพื้นที่ภาคสนาม เพื่อช่วยให้สามารถกำหนดพื้นที่สำรวจภาคสนามได้อย่างเหมาะสม เช่น พื้นที่ที่โครงการประสบความสำเร็จ/ล้มเหลว และพื้นที่ที่มีความผิดปกติ เป็นต้น
3.2.2 ทบทวนแหล่งเงินลงทุนโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 อีกครั้งหนึ่ง และจัดทำรายชื่อโครงการที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. ... วงเงิน 400,000 บาท เพื่อรายงานคณะกรรมการฯ ต่อไป
3.2.3 รวบรวมรายชื่อและวงเงินโครงการที่ได้รับจัดสรรเงินกู้แล้วแต่ประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินโครงการได้ และพิจารณาความเป็นไปได้ในการชะลอการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อนำเงินคงเหลือมาจัดสรรให้กับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันทีและมีความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงแทน เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นต้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤษภาคม 2553--จบ--