รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 26, 2010 14:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษายน 2553 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในแนวโน้มที่ดี

กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายน 2553 เท่ากับ 107.66 เป็นการรายงานโดยใช้ตัวเลขหลังจุดทศนิยม 2 ตำแหน่งเป็นเดือนที่ 4 ตั้งแต่จัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคมานานกว่า 60 ปี โดยยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.0 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากต้นปี และเข้าสู่แนวโน้มที่ดี โดยเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.5 ซึ่งอยู่ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี(โดยคาดว่ะปีนี้จะเพิ่มขึ้นระหว่าง ร้อยละ 3.0-3.5) และคาดว่าไตรมาสที่ 2 ดัชนีราคาผู้บริโภคจะอยู่ประมาณร้อยละ 3.5

แรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย และเศรฐษกิจโลกทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่เดือนต.ค. 2552 และปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพตั้งแต่ต้นปีนี้ คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ในเดือน ม.ค. ร้อยละ 3.7 ในเดือน ก.พ. ร้อยละ 3.4 ในเดือนมี.ค. จนอยู่ในระดับร้อยละ 3.0 ในเดือนเม.ย.นี้

การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2553 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีปัจจัยหลักมาจากราคาอาหารสด โดยผักสดร้อยละ 11.6 ผลไม้สดร้อยละ 13.6 ข้าวแป้งสูงขึ้นร้อยละ 9.1 เนื้อสัตว์ต่างๆร้อยละ 4.0 ไข่และผลิตภัณฑ์นมสูงขึ้น ร้อยละ 3.5 นอกจากนี้ราคาน้ำมันก็สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 35.5 สินค้าในกลุ่มยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอออล์เพิ่มร้อยละ 13.6

ถึงแม้ในเดือนเมษายนรัฐบาลจะยกเลิกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพในส่วนของค่าน้ำประปา แต่มาตรการที่ขยายออกไป ได้แก่ ค่าไฟฟ้า รถเมล์ฟรี การตรึงราคาแก๊สหุงต้ม และการช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน และการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ก็มีส่วนช่วยค่าครองชีพของประชาชนให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษายน 2553 ดังนี้

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2553

ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนเมษายน 2553 เท่ากับ 107.66 (เดือน มีนาคม 2553 คือ 107.13)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2553 เมื่อเทียบกับ

             2.1 เดือนมีนาคม         2553       สูงขึ้นร้อยละ   0.49
             2.2 เดือนเมษายน        2552       สูงขึ้นร้อยละ   3.0

2.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม — เมษายน ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.5

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2553 เทียบกับ เดือนมีนาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.49 (เดือนมีนาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.23) เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าเดือนก่อนหน้า โดยมีผลกระทบมาจากปัจจัยที่สำคัญ คือ ราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและสินค้าอุปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ผักและผลไม้ เนื้อสุกร ไก่สด ข้าวสารเหนียว ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร รวมทั้งราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและค่าน้ำประปาที่สูงขึ้นเป็นผลจากการยกเลิกมาตรการค่าน้ำประปาที่รัฐฯช่วยค่าครองชีพกับประชาชน ค่าโดยสารเครื่องบิน ยานพาหนะและเครื่องถวายพระ ในขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าเช่าบ้าน เครื่องรับอุปกรณ์สื่อสารและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.53 (เดือนมีนาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.07) สาเหตุสำคัญเป็นผลจากราคาสินค้าอาหารสดปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งประกอบด้วย ผักและผลไม้ ร้อยละ 3.53 ได้แก่ ถั่วฝักยาว แตงกวา เห็ด ผักชี มะเขือเจ้าพระยา พริกสด ขิง หัวหอมแดง ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า เงาะ ทุเรียน แตงโม องุ่น ส้มโอและมังคุด เป็นผลจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและพื้นที่เพาะปลูกบางแห่งได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน ส่งผลให้ผักบางชนิดได้รับความเสียหายรวมทั้งเป็นช่วงปลายฤดูกาลและต้นฤดูกาลของผลไม้บางชนิด ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เนื้อสุกร ร้อยละ 0.30 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้สุกรมีชีวิตเติบโตช้าและมีขนาดเล็กลง ไก่สดร้อยละ 0.13 ข้าวสารเหนียว ร้อยละ 1.39 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.12 (ปลาช่อน ปลาทับทิม ปลาทู)และเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 0.19 ( น้ำตาลทราย ขนมหวาน เครื่องปรุงรส) ) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ร้อยละ 0.16 ความต้องการส่งออกชะลอตัว ผู้ส่งออกรอดูสถานการณ์และแนวโน้มราคาข้าวภายในประเทศ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.33 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมผง นมเปรี้ยว ครีมเทียม) และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.15 (กาแฟผงสำเร็จรูป เครื่องดื่มรสชอกโกแลต น้ำผลไม้ น้ำดื่มบริสุทธิ์)

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.48 เป็นอัตราที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เดือนมีนาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.33) สาเหตุสำคัญเป็นผลกระทบจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 1.50 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 18.63 เป็นผลจากรัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการค่าน้ำประปา ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐฯช่วยค่าครองชีพกับประชาชนทำให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ค่าโดยสารเครื่องบิน ร้อยละ 24.86 โดย บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ได้ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารภายในประเทศโดยเฉลี่ย ร้อยละ 36.50 ตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2553 ยานพาหนะ ร้อยละ 0.01 (รถยนต์ รถจักรยานยนต์) และเครื่องถวายพระ ร้อยละ 0.47 สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.10 เจ้าของบ้านเช่าปรับลดค่าเช่าลงเพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับรายอื่นๆได้มากขึ้น เครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร ร้อยละ 0.17 (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ )และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.32 (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน)

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.0 เป็นอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น ร้อยละ 3.7 ได้รับผลกระทบมาจาก ดัชนีหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 9.7 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.2 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 2.1 ผักและผลไม้ ร้อยละ 12.2 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.2 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.2 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.8 รวมทั้งผลกระทบจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 6.3 (ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 1.8 (ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา วัสดุก่อสร้าง) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.7 (ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าของใช้ส่วนบุคคล) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 13.6 (ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์) อย่างไรก็ตามยังมีดัชนี หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ปรับลดลง คือ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 3.4 (ผ้าและเสื้อผ้า) และหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 10.3 (การบันเทิง การอ่านและการศึกษา)

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงระยะเดียวกัน (มกราคม — เมษายน ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.5 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 39.4 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 50.3 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 2.9 ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ร้อยละ 20.8 เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 8.1 และค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.1 ส่งผลให้ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 3.1 ในขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 4.1 เป็นผลจากการสูงขึ้นของ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 9.1 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 4.0 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.5 ผักและผลไม้ ร้อยละ 14.8 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 1.9 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.4 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.8 เป็นสำคัญ

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ( คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษายน 2553 เท่ากับ 103.45 เมื่อเทียบกับ

             6.1 เดือนมีนาคม             2553       สูงขึ้นร้อยละ  0.28
             6.2 เดือนเมษายน            2552       สูงขึ้นร้อยละ  0.5

6.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม — เมษายน ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.5

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนเมษายน 2553 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2553 สูงขึ้น ร้อยละ 0.28 (เดือนมีนาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.11)โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวทั้งสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าน้ำประปา ยานพาหนะ และเครื่องถวายพระ ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง คือ ค่าเช่าบ้าน เครื่องรับอุปกรณ์สื่อสารและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤษภาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ