คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้
1. การให้เงินความช่วยเหลือเบื้องต้น
ที่ประชุมเห็นสมควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับความเสียหายโดยตรง อันเนื่องมาจากการเกิดความไม่สงบตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เช่น ร้านค้า ทรัพย์สิน ถูกเพลิงไหม้ เป็นต้น เป็นเงินช่วยเหลือรายละ 50,000 บาท นอกเหนือไปจากการให้ความช่วยเหลือจากกรุงเทพมหานคร
โดยให้คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง ที่มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เป็นประธานกรรมการ ไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือ
ส่วนผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือกรณีอื่นให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกรุงเทพมหานครส่งคำขอให้คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
2. การจัดหาสถานที่ค้าขาย
นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พิจารณาแนวทางการจัดหาสถานที่ค้าขายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ย่านราชประสงค์ สยามสแควร์ และย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครและกระทรวงพาณิชย์ จัดหาพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ค้าขายโดยเร็ว รวมถึงได้พิจารณาจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการค้าขาย เช่น ถนนคนเดิน หรือตลาดนัด ในพื้นที่ที่เหมาะสมด้วย โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมพิจารณาพื้นที่ที่จะต้องมีการปิดถนนเพื่อให้เกิดผลกระทบจากการปิดถนนให้น้อยที่สุด
3. การให้ความช่วยเหลือในเรื่องเงินทุน
กระทรวงการคลังจะได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเงื่อนไขเพิ่มเติมวงเงินกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี) วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ภายใต้กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยมีรัฐบาลค้ำประกัน และกระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารออมสินจะสมทบกับโครงการของธนาคารเอสเอ็มอี สำหรับวงเงินกู้ที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันในวงเงิน 2.5 แสนบาท
แต่ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะได้ไปพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับวงเงินระยะเวลา และอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดวามยืดหยุ่นและสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้มากขึ้น ซึ่งจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
4. การให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง
กระทรวงแรงงานได้ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 4,405 ราย โดยเป็นแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 142 ราย สำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง นั้น นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งได้กำหนดในเรื่องต่างๆ ไว้แล้ว ส่วนปัญหาสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาของลูกจ้างที่อยู่นอกระบบซึ่งกระทรวงแรงงานรับที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจข้อมูลในพื้นที่ร่วมกับผู้ประกอบการและรวบรวมข้อมูลเพื่อจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป
5. การชดเชยการประกันภัย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้แบ่งผู้เสียหายเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่มีประกันภัยก่อการร้าย คปภ. ได้ประสานกับบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยให้จ่ายชดเชยให้เร็วที่สุด และบางบริษัทได้มีการทำประกันภัยธุรกิจชะงักงันไว้ด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถนำเงินชดเชยมาจ่ายค่าจ้างแรงงานได้ 2. กลุ่มผู้ประกอบการที่มีเฉพาะการประกันอัคคีภัย จะมีสินไหมการุณเพื่อให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ คปภ. และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย รับที่จะประเมินความเสียหายให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ คปภ. พิจารณาจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอรัฐบาลพิจารณาว่าหากจะต้องมีการรักษาระดับเบี้ยประกันให้อยู่ในระดับที่พอรับได้รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างไร
6. แนวทางการให้ความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ
ที่ประชุมได้มีการเสนอให้มีการเปิดบัญชีรับบริจาคผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดตั้งเป็นกองทุน ซึ่งให้สิทธิทางภาษีแก่ผู้ที่บริจาคเข้ากองทุนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ได้มอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับไปดำเนินการเรื่องการจัดตั้งกองทุนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม จะขยายพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยนายจ้างในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในปี 2553-2554
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤษภาคม 2553--จบ--