การให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 4, 2010 08:45 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการ

ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนธนาคารแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะเวลาโครงการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2556 ในวงเงิน 25,000 ล้านบาท แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

2. ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ในวงเงินที่ยังคงค้างจากการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ ธปท. ในโครงการนี้ประมาณ 3,000 ล้านบาท (ซึ่งเป็นวงเงินภายในกรอบ 25,000 ล้านบาท) โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2553 เพื่อสนับสนุน ความต้องการของผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสนอผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

สำหรับวิธีการคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่ทางการจะต้องชดเชยให้กับธนาคารออมสินนั้น ให้กระทรวงการคลังไปหารือในรายละเอียดร่วมกับสำนักงบประมาณต่อไป

เรื่องเดิม

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รชต.) ครั้งที่ 2 / 2552 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2552 เกี่ยวกับมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเห็นควรให้ธนาคารออมสินทำหน้าที่แทน ธปท. ในการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ จำนวน 25,000 ล้านบาท และรัฐบาลรับผิดชอบส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนปกติของธนาคารออมสินกับอัตราผลตอบแทนที่ธนาคารออมสินได้รับจากการปล่อยสินเชื่อตามโครงการนี้ โดยใช้งบประมาณจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ในฐานะรองประธานกรรมการ รชต. เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารออมสิน และ ธปท. เกี่ยวกับการให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อผ่อนปรนแทน ธปท. ตามโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเห็นควรให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เดิมของ ธปท. ที่เคยดำเนินการ ซึ่งจะดำเนินการ ต่อเนื่องจากโครงการของ ธปท. ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 โดยธนาคารออมสินจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. วัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยยอดสินเชื่อคงค้าง และเพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการฟื้นฟูกิจการของผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ดำเนินการต่อไปได้ ในรูปการกู้ยืมเงินประเภทมีกำหนดเวลา และประเภทวงเงินหมุนเวียน

2. วิธีการให้ความช่วยเหลือ ธนาคารออมสินจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการให้กู้ยืมเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

3. ลักษณะของผู้ประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือ เป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศซึ่งมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน ประกอบ กิจการการผลิต การให้บริการ ค้าส่งและค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีสถานประกอบการอยู่ในเขตจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินในพื้นที่ รวมถึงการรับซื้อหรือรับโอนกิจการเพื่อดำเนินธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

4. วงเงินการให้ความช่วยเหลือ ธนาคารออมสินจะให้ความช่วยเหลือในวงเงิน 25,000 ล้านบาท

5. ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการแต่ละรายตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2556 โดยยื่นขอได้จนกว่าวงเงินที่กำหนดไว้จะถูกจัดสรรหมด แต่ไม่เกินสิ้นปี 2556

ในการนี้ธนาคารออมสินได้แจ้งให้กระทรวงการคลังทราบว่าพร้อมจะดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจกู้เงินตามโครงการดังกล่าวในวันที่ 1 มิถุนายน 2553 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีหน้าที่ในการปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตรง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ