คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสหนึ่ง ปี 2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2553
ในไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยดี ขยายตัวสูงร้อยละ 12 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยการจ้างงานเฉลี่ยของไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากไตรมาส 1/2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเกษตร ภาคการท่องเที่ยว โรงแรมและภัตตาคาร และมีรายได้จากค่าจ้างเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 4 เป็นการฟื้นตัวของภาคการผลิตและบริการอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4/2552 ทำให้อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 1.1 หรือมีผู้ว่างงาน 4.3 แสนคน จำนวนผู้ที่ทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลดลงเป็น 126,116 คน อย่างไรก็ตาม มีประเด็นเฝ้าระวังสำคัญในระยะต่อไป คือ การว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 และ 3 และมีผลกระทบคุณภาพชีวิตแรงงานจากการขาดรายได้ อันเนื่องจาก (1) ความเสียหายต่อภาคธุรกิจที่เกิดจากการชุมนุมและการก่อการจลาจลทำให้มีการลดชั่วโมงการทำงานและลดการจ้างงาน (2) ปัญหาภัยพิบัติการเกษตร ทั้งภาวะภัยแล้งและการระบาดของศัตรูพืช อาจเป็นข้อจำกัดของภาคเกษตรในการรองรับแรงงาน และ (3) การทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้จบการศึกษาใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ขณะที่ในเชิงโครงสร้างตลาดแรงงานยังมีปัญหาทั้งการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาด และระบบการคุ้มครองทางสังคมและการพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานที่อยู่นอกระบบ
ปัญหาสุขภาพจิตในสังคมมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมือง (Political Stress Syndrome: PSS) และความขัดแย้งในสังคม จากผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตที่พบว่าภาวะความเครียดของคนไทยในปี 2552 มีภาวะความเครียดตั้งแต่ปานกลางจนถึงเครียดมากถึงร้อยละ 41 ขณะที่คนไทยยังขาดทักษะการจัดการความเครียดและภาวะวิกฤตในชีวิต และจะนำไปสู่ปัญหาครอบครัวได้ ประเด็นเฝ้าระวังสำคัญ คือ (1) ปัญหาสุขภาพจิตขั้นรุนแรงจากปัญหาต่างๆ อาจจะทำให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นได้ (2) ความขัดแย้งในสังคมที่ยังดำเนินต่อไปสร้างความเครียดและบั่นทอนสุขภาพจิต (3) การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจำนวนมากจากสื่อสังคม (Social media) และเครือข่ายสังคมต่างๆ (Social networks) ที่ขาดการกลั่นกรอง สร้างความเครียดในสังคมมากขึ้นได้โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังขาดภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม และ (4) สังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งและเกิดโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ สุขภาพประชาชนไทยยังมีความเสี่ยงจากโรคภัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ การระบาดของไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง และการระบาดของอหิวาตกโรคตลอดทุก 3 ปี ขณะที่พฤติกรรมการสูบบุหรี่มีพิษภัยแฝงมากขึ้นทั้งกับตนเองและผู้อื่น จากการใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ใหม่ๆ เช่น บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาค้นพบเกี่ยวกับพิษภัยจากบุหรี่ที่มีต่อบุคคลที่สาม (third-handed smokers ได้รับจากพิษภัยจากควันบุหรี่ที่ติดอยู่ตามสถานที่และเครื่องใช้ต่างๆ) การบังคับใช้กฎหมายเรื่องสถานที่ปลอดบุหรี่เพื่อคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ต้องจริงจังมากขึ้น
คดีอาญาโดยรวมลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้น และเป็นผลจากการใช้มาตรการเชิงรุก อย่างไรก็ตาม แนวโน้มระยะยาวยังต้องระมัดระวังปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ขณะที่แรงกดดันภายในครอบครัวและแรงกดดันภายนอก ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของวัยรุ่น เช่น การแชทผ่าน ไฮไฟว์ เฟสบุค ทวิตเตอร์ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเด็กถูกล่อลวงมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 11-15 ปี
ภาวะโลกร้อนส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้ง และปัญหาไฟไหม้ป่าในฤดูแล้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เกิดหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กมีค่าเฉลี่ยเกินเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้นกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนคือ การน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการนำป่าเปียก เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า มาเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ และป้องกันไฟป่าในระยะยาวที่ได้ผลอย่างยั่งยืน
เรื่องเด่นประจำฉบับ “พลังเด็กและเยาวชนสร้างสังคม”
วาระเร่งด่วนในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในทุกด้านคือ การพัฒนาคนไทยในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี มีคุณภาพ มีจิตอาสา และการเสริมสร้างพลังประชาชนในทุกกลุ่มวัยให้เป็นพลังบวกและสร้างสรรค์ในการสร้างชาติ โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กและเยาวชนท่ามกลางปัญหาการขาดต้นแบบที่ดีและความอ่อนแอของต้นทุนชีวิตที่จะเป็นปัจจัยหล่อหลอม ให้กลายเป็นพลังบวกและสร้างสรรค์สังคมที่เข้ามารับช่วงการพัฒนาประเทศต่อไป
แนวทางและมาตรการการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณลักษณะพึงประสงค์ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันครอบคลุมด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การคุ้มครองทางสังคม เช่น การดูแลด้านโภชนาการและสุขภาพเด็ก การคุ้มครองเด็กและเยาวชน การพัฒนาด้านคุณภาพและการเข้าถึงบริการการศึกษาด้วยการเรียนฟรี 15 ปี และ การสนับสนุนด้านเงินทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนและสถาบันเพื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น สถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ กองทุนสื่อสร้างสรรค์ และสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนภายใต้ สสส. มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังด้านวัฒนธรรม ด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดปัญหาของเด็กมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกิจกรรม/พื้นที่ดี ทดแทนพื้นที่เสีย ที่จูงใจและเปิดโอกาสให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดพฤติกรรมในเชิงบวก
การพัฒนาเด็กและเยาวชนในเชิงบวก (Positive Youth Development) เป็นกระบวนการพัฒนาที่ยึดหลักการเปิดโอกาสหรือพื้นที่ให้เยาวชนมีทางเลือก สร้างกิจกรรม/พื้นที่ดีทดแทนพื้นที่เสีย จูงใจและเปิดโอกาสให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดพฤติกรรมในเชิงบวก ภายใต้การเสริมสร้างพื้นที่ครอบครัวเต็มไปด้วยความรักและความเข้าใจ ให้โอกาส พื้นที่โรงเรียนมีกิจกรรมที่หลากหลายเข้าถึงใจเด็ก พื้นที่รอบนอกโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้เสริมทักษะ พื้นที่ชุมชนส่งเสริมความรักท้องถิ่น และพื้นที่ทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ก้าวไปสู่การเป็นสมาชิกที่ดี มีจิตอาสา มีสำนึกสาธารณะต่อบ้านเมือง รวมถึงพื้นที่สื่อที่เปิดโลกการเรียนรู้ไร้พรมแดนอย่างสร้างสรรค์และมีความปลอดภัย ทั้งนี้ โดยการดำเนินการของรัฐในฐานะผู้สนับสนุนและประสานผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมธุรกิจเอกชนเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมและลงทุนเพื่อสังคม เป็นกลุ่มงาน/อาสาสมัครในการเป็นพี่เลี้ยงเยาวชน ให้ความสำคัญกับบทบาทของท้องถิ่นในการขับเคลื่อนและผลักดันงานด้านเด็กและเยาวชนในระดับชุมชนทั่วประเทศ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2553--จบ--