คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 (ร่างมาตรา 3)
2. กำหนดนิยามคำว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น (ร่างมาตรา 4)
3. ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 5)
4. กำหนดให้ ก.ก.ถ. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลมาตรฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ร่างมาตรา 6)
5. หมวด 1 การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
5.1 กำหนดบทนิยามคำว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” “ผู้เข้าชื่อ” และ “ผู้แทนผู้เข้าชื่อ” (ร่างมาตรา 7)
5.2 ปรับลดสัดส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ร่างมาตรา 8)
5.3 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินการและรายละเอียดเกี่ยวกับคำร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อสามารถเสนอเพียงหลักการและเหตุผลของข้อบัญญัตินั้น โดยไม่จำเป็นต้องร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นทั้งฉบับ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเงินภาษีอากร การกู้เงิน หรือการใช้จ่ายเงินงบประมาณโดยตรง และเปิดโอกาสให้ผู้แทนเข้าชื่อมาชี้แจงหรือให้คำอธิบาย ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในขั้นตอนที่ยื่นคำร้องและในการพิจารณาของสภาท้องถิ่น (ร่างมาตรา 9 — ร่างมาตรา 10)
5.4 กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาหาข้อยุติ กรณีที่ประธานสภาท้องถิ่นเห็นว่า คำร้องที่เสนอมานั้นไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ร่างมาตรา 11)
6. หมวด 2 วิธีการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6.1 กำหนดให้ ก.ก.ถ. เป็นผู้รับผิดชอบในการทบทวนกฎ ระเบียบต่างๆ ที่บังคับใช้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ กฎ ระเบียบต่างๆ และกำหนดวิธีการ ช่องทางที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การจัดทำงบประมาณรายจ่ายการประชุมสภาท้องถิ่น และการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม (ร่างมาตรา 16 — ร่างมาตรา 17)
6.2 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องแจ้งข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นกรณีที่การกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนอย่างรุนแรง ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพ หรือกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น ในสาระสำคัญ และต้องนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาใช้ประกอบในกระบวนการตัดสินใจ รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่จะมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ร่างมาตรา 18)
7. หมวด 3 การออกเสียงประชามติท้องถิ่น
7.1 กำหนดบทนิยามคำว่า “การออกเสียง” “ผู้มีสิทธิออกเสียง” “วันออกเสียง” “เขตออกเสียง” และ “หน่วยออกเสียง” (ร่างมาตรา 21)
7.2 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินการเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติท้องถิ่น สัดส่วนการออกเสียง และกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด รวมถึงเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการออกเสียงประชามติ (ร่างมาตรา 22 ร่างมาตรา 29)
8. หมวด 4 การลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
8.1 กำหนดบทนิยามคำว่า “ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง” และ “หน่วยลงคะแนนเสียง” (ร่างมาตรา 31)
8.2 ปรับลดสัดส่วนผู้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ ซึ่งกำหนดเกณฑ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จำนวน 20,000 คน โดยถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง และปรับคะแนนเสียงที่ใช้ในการถอดถอน โดยจะต้องมีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั้น และมีคะแนนเสียงจำนวนไม่น้อยกว่าสามในห้าของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง (ร่างมาตรา 33 และร่างมาตรา 51)
9. หมวด 5 การรายงานการดำเนินงานต่อประชาชน
9.2 กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรายงานการดำเนินงานและผลการดำเนินงานต่อประชาชนทุกปี เช่น การจัดทำงบประมาณโดยอย่างน้อยต้องมีรายการเปรียบเทียบระหว่างประมาณการรายรับกับรายรับจริง และประมาณการรายจ่ายจริงของแต่ละรายการรวมทั้งเงินสะสมและเงินกู้ (ร่างมาตรา 53)
10. กำหนดบทลงโทษ (ร่างมาตรา 55 — ร่างมาตรา 56)
11. กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัติ (ร่างมาตรา 66 — ร่างมาตรา 67)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2553--จบ--