ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 6/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 13:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 6/2553

2. เห็นชอบการถ่ายโอนภารกิจกำกับดูแลการขับเคลื่อน JTEPA ของฝ่ายไทยจากกระทรวงการต่างประเทศไปยังกระทรวงพาณิชย์ และให้นำเรื่องการเปลี่ยนจุดติดต่อจากกระทรวงการต่างประเทศ เป็นกระทรวงพาณิชย์รวมไว้กับประเด็นอื่นๆ ที่จะนำเข้าสู่การเจรจากับประเทศญี่ปุ่นในรอบต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างรอการเจรจากับประเทศญี่ปุ่นนั้น มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่จุดติดต่อในการประสานงานการจัดประชุมระดับประเทศไปก่อน และให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในขั้นตอนปฏิบัติงานภายในประเทศ โดยให้กระทรวงพาณิชย์จัดประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนฝ่ายไทย เพื่อกำหนดกลยุทธ์และท่าทีของฝ่ายไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 ต่อไป

3. เห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการ รศก. เรื่องมาตรการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวและการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ดังนี้

3.1 มาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง

3.1.1 เห็นชอบการปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาภายในประเทศ โดยคงวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท และวงเงินกู้รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยขยายระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) จากเดิม 1 ปี เป็น 2 ปี และขยายระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดจากเดิม 5 ปีเป็น 8 ปี

3.1.2 มอบหมายให้กระทรวงการคลัง พิจารณารายละเอียดและกำหนดเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาแก่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวขนาดกลางและขนาดย่อม มาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่บุคลากรด้านการท่องเที่ยวเพื่อช่วยเหลือบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบ โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมโดยตรง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการสนับสนุนทางการเงินของภาครัฐที่เหมาะสมต่อไป

3.2 มาตรการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว

3.2.1 เห็นชอบให้ขยายเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจโรงแรม จากวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับไปดำเนินการตามกฎ ระเบียบ และขั้นตอนต่อไป

3.2.2 มอบหมายให้ สศช. ประสานกับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อประสานข้อมูลรายละเอียดการกำหนดอัตราขั้นต่ำในการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากสถานประกอบการขนาดใหญ่ และนำเสนอคณะกรรมการ รศก. พิจารณาต่อไป

3.3 มาตรการส่งเสริมการตลาดด้านท่องเที่ยว

3.3.1 เห็นชอบในหลักการของแผนงานกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศ โดยมีกรอบวงเงิน 360 ล้านบาท และมอบหมายให้สำนักงบประมาณ พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมและความเหมาะสมของวงเงินโครงการอีกครั้งหนึ่งและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

3.3.2 มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาปรับแผนการดำเนินการกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและบูรณาการแผนงานดังกล่าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

3.3.3 เห็นชอบให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดการประชุมสัมมนาและฝึกอบรมภายในประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินการในต่างจังหวัด โดยให้กระทรวงการคลัง พิจารณาความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ อาทิ อัตราค่าอาหาร ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มต่อไป

3.3.4 เห็นชอบการขยายระยะเวลาให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายการประชุม สัมมนา อบรมและจัดการท่องเที่ยวเป็นรางวัลในประเทศแก่พนักงานมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริงสำหรับปี พ.ศ. 2553 ออกไปอีก 1 ปี สำหรับการปรับเปลี่ยนมาตรการในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยให้นำค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าพาหนะเดินทางไป — กลับในการประชุม สัมมนา และอบรม ค่าบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น มารวมในการคำนวณเพื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่าด้วยนั้น มอบหมายให้กระทรวงการคลัง รับไปพิจารณาความเหมาะสมของการดำเนินการดังกล่าวในรายละเอียดต่อไป

3.3.5 มอบหมายให้กระทรวงการคลัง พิจารณารายละเอียดมาตรการให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศมาหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 15,000 บาท โดยให้รับข้อสังเกตของคณะกรรมการ รศก. ไปประกอบการพิจารณาและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

3.5 เห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ย่านราชประสงค์ และพื้นที่ใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ ให้กำหนดวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับการกู้ยืมแบบมีหลักประกันรายละไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมเป็นผู้กู้รายหนึ่งสามารถกู้ได้ทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน (Clean Loan) โดยวงเงินสินเชื่อต่อรายรวมทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 4 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ