มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 13:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติ ตามมติคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ดังนี้

1. รับทราบผลการเจรจากับผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ กรณีค่าเช่า โดยให้กระทรวงแรงงานขอรับ การจัดสรรงบประมาณและเป็นหน่วยงานเบิกจ่ายงบประมาณต่อไป

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 เห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุม และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม เป็นค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเช่าและค่าบริการแก่ร้านค้าย่อย วงเงิน 444.1 ล้านบาท และให้ขอตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป นั้น ซึ่งคณะกรรมการช่วยเหลือฯ พิจารณาแล้ว เห็นควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ ในสัดส่วนร้อยละ 70 ของวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ต่อมาสมาคม ผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ได้มีหนังสือยืนยันขอรับความช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าและค่าบริการแก่ร้านค้าย่อย ในสัดส่วนร้อยละ 70 ของวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เป็นเงินจำนวน 311 ล้านบาท

2. อนุมัติ

2.1 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการศูนย์การค้าสยามสแควร์ เห็นชอบตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอ โดยให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยงดเว้นการเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 6 เดือนในอาคารกึ่งถาวร

เดิมคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ในวงเงิน 88,331,040 บาท ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณก่อนดำเนินการ และให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับความเห็นของคณะรัฐมนตรีที่เห็นควรให้พิจารณางดการเก็บค่าเช่าจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเป็นระยะเวลา 1 ปี ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

ต่อมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 โดยงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไปในวงเงิน 88,331,040 บาท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะนำเงินทั้งจำนวนมาดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและประสบวินาศภัย เป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะยกเว้นไม่เรียกเก็บค่าเช่าจากผู้ประกอบการเป็นเวลา 1 เดือน คิดเป็นเงินงบประมาณ 65 ล้านบาท และผ่อนผันให้ยืดระยะเวลาชำระค่าเช่าของเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน 2553 ออกไป โดยไม่มีดอกเบี้ย

ส่วนที่ 2 ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบวินาศภัย โดยการไม่เรียกเก็บค่าเช่าเป็นระยะเวลา 6 เดือน ในอาคารกึ่งถาวรซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างขึ้นใหม่ เป็นจำนวนเงินงบประมาณ 69.4 ล้านบาท

รวมจำนวนเงินทั้งสองส่วนข้างต้น คิดเป็นเงินประมาณ 135 ล้านบาท ในส่วนที่เกินจากจำนวนเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้รับภาระดังกล่าวเอง และเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและผู้ได้รับผลกระทบจากวินาศภัย ซึ่งจะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารกึ่งถาวร เพื่อปรับปรุงพื้นที่ช่วยเหลือให้แล้วเสร็จโดยเร่งด่วน ภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2553 ตามนโยบายของรัฐบาล จึงขอให้เร่งพิจารณาให้เงินสนับสนุนตามมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 88,331,040 บาท ต่อไป ซึ่งคณะกรรมการช่วยเหลือฯ ได้พิจารณาแล้ว เห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอ โดยให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยงดเว้นการเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 6 เดือนในอาคารกึ่งถาวร ต่อไป

2.2 มาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเพิ่มเติมกรณีค่าจ้าง

คณะกรรมการช่วยเหลือฯ ได้รวบรวมข้อมูลการร้องขอความช่วยเหลือกรณีลูกจ้างได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเพิ่มเติม ดังนี้

2.2.1 จำนวนลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่นายจ้างรักษาสภาพการจ้างไว้ เห็นควรอนุมัติงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ เป็นเวลาหนึ่งเดือน จำนวนลูกจ้าง 2,242 คน เป็นเงินประมาณ 24,502,935 บาท

2.2.2 จำนวนลูกจ้างนอกระบบประกันสังคมที่เห็นควรอนุมัติงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง รายละ 7,500 บาท เป็นเวลาหนึ่งเดือน จำนวน 1,325 คน เป็นเงินงบประมาณ 9,937,500 บาท

รวมรายการที่ 2.2.1 และ 2.2.2 เป็นเงินทั้งสิ้น 34,440,435 บาท โดยให้กระทรวงแรงงานขอรับการจัดสรรงบประมาณและเป็นหน่วยงานเบิกจ่ายงบประมาณต่อไป

2.3 การช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อยของศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน กรณีการจัดสถานที่ค้าขาย

คณะกรรมการช่วยเหลือฯ ได้รับรายงานจากผู้แทนกระทรวงการคลังว่า ธนาคาร ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) จะได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณชั้น 3 และชั้น 4 ของห้างสรรพสินค้าแฟชั่นมอลล์ ไว้รองรับผู้ค้ารายย่อยของศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน มีพื้นที่ทั้งหมดจำนวนประมาณ 2,000 ตารางเมตร ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเป็นเงินประมาณ 10 ล้านบาท ขณะนี้ มีผู้ค้ารายย่อยแจ้งความประสงค์ขอเข้าใช้พื้นที่แล้วประมาณ 100 กว่าราย โดย ธนาคาร ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) มีนโยบายจะงดการเก็บค่าเช่าสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน คณะกรรมการช่วยเหลือฯ พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้สอดคล้องกับกรณีการยกเว้นการเก็บค่าเช่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 6 เดือน จึงให้ผู้แทนกระทรวงการคลังประสานกับธนาคาร ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ขอขยายเวลาการยกเว้นการเก็บค่าเช่าของห้างสรรพสินค้าแฟชั่นมอลล์ เป็นเวลา 6 เดือน โดยในช่วง 3 เดือนหลัง ธนาคาร ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 2.5 ล้านบาทต่อเดือน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ