มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 13:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการส่งออก ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1.1 ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้จำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าเช่าพื้นที่ ค่าก่อสร้างสถานที่จัดแสดง ค่าระวาง ค่าประกันภัย และค่าขนส่งสินค้าและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าร่วมงานออกร้าน งานนิทรรศการ งานแสดงสินค้าในประเทศและต่างประเทศ โดยเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ทั้งนี้เฉพาะกรณีได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องว่าได้เข้าร่วมงานดังกล่าวจริง

1.2 ยกเว้นภาษีเงินได้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้จำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง ค่าอาหารหรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศที่ได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือที่ได้จ่ายให้แก่ธุรกิจนำเที่ยว ตามพระราชบัญญัติ ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ สำหรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553

1.3 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยว ซึ่งมีรายจ่ายเพื่อการลงทุนในการต่อเติมเปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์แต่ไม่รวมถึงทรัพย์สินประเภทที่เป็นยานพาหนะ ที่ได้ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการประกอบกิจการ ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 60 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ทั้งนี้ ต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ภายใต้หลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) ทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาขอรับสิทธิประโยชน์สนับสนุนจากส่วนราชการ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงาน

(2) ทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(3) ทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายซึ่งได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตามพระราชกฤษฎีออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539

(4) ทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549

(5) ทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีได้รับความเสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553

1.4 ให้รถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการและก่อให้เกิดรายได้โดยตรงหักค่าใช้จ่ายได้เต็มมูลค่าต้นทุนทั้งหมด สำหรับผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ภายใต้หลักเกณฑ์เงื่อนไขการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังต่อไปนี้

(1) ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตได้เต็มมูลค่าต้นทุนทั้งหมดสำหรับธุรกิจให้เช่ารถยนต์ซึ่งมีรถยนต์เป็นต้นทุนหลักของกิจการและเป็นทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้โดยตรง

(2) ให้หักค่าเช่ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวน

1.5 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้เสียหายสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการนำเที่ยวเป็นการเหมาภายในประเทศ ที่ได้จ่ายให้แก่ธุรกิจนำเที่ยว ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เป็นจำนวนไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม

2. อนุมัติหลักการ

ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 2 ฉบับ

ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและ ค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ ....) จำนวน 2 ฉบับ

ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ

ร่างกฎกระทรวงฉบับที่ .. พ.ศ. .... ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ รวม 6 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเป็นเรื่องด่วน และดำเนินการต่อไปได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ