โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 2090

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 13:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 2090 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วน กระทรวงคมนาคมจึงได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการฯ ของกรมทางหลวงในวันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน 2553 และพบว่ามีประเด็นที่สมควรรายงานคณะรัฐมนตรีในเรื่องความเป็นมาของโครงการฯ การดำเนินการในส่วนของกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และข้อสงสัยกรณีไม้สูญหาย ดังนี้

1. ความเป็นมา

1.1 ทางหลวง 2090 (ถนนธนะรัชต์) ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 2-ต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระหว่าง กม.2+000-กม.10+100 ระยะทาง 8.100 กม. เดิมเป็นถนนลาดยางขนาด 2 ช่องจราจร (กว้าง 7 เมตร) บางช่วงเป็น 4 ช่องจราจร (มี 2 ช่วงในเขตชุมชน ระยะทาง 1.5 กม.) ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.5 เมตร มีเขตทางกว้างข้างละ 30 เมตร ลักษณะพื้นที่หลังแนวเขตทางส่วนใหญ่เป็นที่พักอาศัย รีสอร์ท และแปลงพืชไร่ต่างๆ ซึ่งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ

1.2 เส้นทางดังกล่าวบูรณะใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2535 อายุใช้งาน 16 ปี มีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นตามลำดับทุกปี จากปริมาณจราจรเฉลี่ยวันละ 4,980 คัน ในปี พ.ศ.2543 เป็นปริมาณจราจรเฉลี่ยวันละ 8,018 คัน ในปี พ.ศ.2552 เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเป็นเส้นทางลัดไปสู่วังน้ำเขียว และเขาแผงม้า ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง

1.3 จากปริมาณจราจรที่มากขึ้นในเส้นทางสายดังกล่าว ทำให้การจราจรติดขัดอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำท่วม ในเขตทาง เนื่องจากท่อระบายน้ำที่ระบายน้ำได้ไม่เพียงพอทำให้น้ำท่วมเส้นทางบางจุดในช่วงฝนตก ปัญหาจุดกลับรถที่ไม่เหมาะสม ไฟฟ้าแสงสว่างไม่เพียงพอ การไม่มีป้าย ไฟสัญญาณบอกเขตโรงเรียน เป็นต้น

1.4 กรมทางหลวง จึงจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงในเส้นทางดังกล่าว เพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2553 แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 สำนักทางหลวงที่ 8 (นครราชสีมา) ได้รับงบประมาณจำนวน 70 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการฯ โดยขยายทางเป็น 4 ช่องจราจร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเส้นทึบคู่ สีเหลือง กว้าง 0.10 เมตร ผิวทางลาดยางชนิดแอสฟัลต์คอนกรีตพร้อมจัดทำท่อระบายน้ำและไฟฟ้าแสงสว่าง รวมทั้งการจัดทำเครื่องหมายจราจร ป้ายเตือนต่างๆ ด้วย

2. การดำเนินงานในส่วนของกรมทางหลวง

2.1 การประกวดราคาหาตัวผู้รับจ้าง

กรมทางหลวงได้ดำเนินการประกวดราคาหาตัวผู้รับจ้าง และได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัท ราชสีมาบวร (1990) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 วงเงิน 69,736,342.01 บาท เริ่มต้นสัญญาก่อสร้าง 10 มีนาคม 2553 สิ้นสุดสัญญา 5 ตุลาคม 2553

2.2 การดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับไม้ในเขตทาง

กรมทางหลวงได้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และข้อตกลงเกี่ยวกับการสงวน การตัดฟันต้นไม้ในแนวเขตทางและที่ดินสงวนของกรมทางหลวง พ.ศ.2511 ระหว่างกรมทางหลวงและกรมป่าไม้ตามลำดับ ดังนี้

1. วันที่ 8 ตุลาคม 2552 แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 แจ้งให้ทราบว่ากรมทางหลวงจะทำการขยายทางหลวงสายดังกล่าว จึงขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจตรวจสอบต้นไม้ที่อยู่ในเขตทางหลวง

2. วันที่ 14 ตุลาคม 2552 แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอีกทางหนึ่ง เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้สำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจตรวจสอบต้นไม้ในพื้นที่โครงการฯ

3. วันที่ 24 ตุลาคม 2552 แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และสำนักงานอนุรักษ์และพัฒนาสวนป่านครราชสีมา ตรวจสอบต้นไม้ต้องห้ามในเขตทางหลวงตามกฎหมาย และได้ร่วมกัน จัดทำบัญชีชนิด ขนาด ของไม้หวงห้ามไว้ ซึ่งมีจำนวน 128 ต้น และแขวงการทางฯ ได้ทำบันทึกขอสละสิทธิ์ไม่ทำประโยชน์จากไม้ดังกล่าวไว้ด้วย

4. วันที่ 26 มกราคม 2553 แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าศูนย์เพาะชำกล้าไม้นครราชสีมา ขอความอนุเคราะห์กล้าไม้จำนวน 2,000 ต้น เพื่อนำไปปลูกเสริมบริเวณที่ว่างในเขตทางหลวง อันเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเพิ่มความร่มรื่นในเขตทาง

2.3 การดำเนินการจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน

กรมทางหลวงได้จัดให้มีการประชุม รับฟังความเห็นของประชาชนต่อโครงการดังกล่าว ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ที่ทำการ อบต. หนองน้ำแดง ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ ทล. ผลการรับฟังความคิดเห็นปรากฏว่า ให้ดำเนินการขยายถนนธนะรัชต์ตามโครงการดังกล่าวได้ โดยให้นำข้อสังเกตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำจุดกลับรถ ท่อระบายน้ำ การสร้างทางข้ามในบริเวณหน้าโรงเรียน ฯลฯ ไปดำเนินการด้วย

2.4 การดำเนินการก่อสร้าง

ปัจจุบันผู้รับจ้างได้ดำเนินการตามสัญญาฯ มีความคืบหน้าการดำเนินการร้อยละ 30 โดยมีการปรับพื้นที่ 2 ข้างทางเสร็จเรียบร้อยแล้วตลอดระยะทาง 8.1 กม.

3. การดำเนินการในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา และกรมป่าไม้

จังหวัดนครราชสีมา กรมป่าไม้ และสำนักงานอนุรักษ์และพัฒนาสวนป่านครราชสีมา องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้มีการประสานเกี่ยวกับการขออนุญาตทำไม้บริเวณที่ดินเขตทางถนนธนะรัชต์ เพื่อดำเนินการทำไม้ตามขั้นตอน เนื่องจากกรมทางหลวงได้บันทึกสละสิทธิ์การใช้ไม้ไว้

4. ประเด็นข้อสงสัยกรณีต้นไม้ที่ตัดไปสูญหาย

ในการตรวจสอบต้นไม้ที่ ออป. ตัดไปแล้ว พบว่าได้มีการลากไปรวมกันไว้ ณ ที่ดินสงวนของกรมทางหลวง บริเวณ กม. 16+300 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจวัดประทับตราเพื่อคำนวณค่าภาคหลวง ก่อน ออป. ทำไม้ออกต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ