การดำเนินการเพื่อรองรับการเปิดตลาด AFTA

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 13:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินการเพื่อรองรับการเปิดตลาด AFTA ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. ผลการปฏิบัติงานของสายด่วน AFTA (Q & A Unit) มีผู้ใช้บริการสายด่วน AFTA Hotline 1385 ระหว่างวันที่ 8 มกราคม — 30 เมษายน 2553 รวม 1,375 ราย สินค้าที่ได้รับความสนใจมาก ได้แก่ สินค้าเกษตร (ข้าว กาแฟ ปาล์ม และน้ำมันปาล์ม ฯลฯ) สินค้าอุตสาหกรรม (เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า พาหนะ เครื่องยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์) โดยประเด็นที่สอบถามส่วนใหญ่เกี่ยวกับอัตราภาษี ขั้นตอนกระบวนการนำเข้า — ส่งออก การออกหนังสือ / เอกสาร ประเด็นสอบถามอื่น ๆ ได้แก่ กำหนดการที่จะออกระเบียบและประกาศเพื่อรองรับการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ภายใต้ AFTA และข้อมูลด้านการตลาด

2. ติดตามและประเมินสถานการณ์ (Monitoring Unit)

2.1 การใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกไปอาเซียน 3 เดือนแรก (มกราคม — มีนาคม 2553) มีผู้ส่งออกมาขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ AFTA มีมูลค่ารวม 3,116.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่ารวม 1,907.54 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 63.36

2.2 ลงพื้นที่ในจังหวัดสระแก้ว และตาก เพื่อกำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมตรวจสอบไม่ให้เกิดปัญหาการลักลอบนำเข้าข้าวจากกัมพูชาและพม่า และจังหวัดเชียงราย เพื่อหารือเกี่ยวกับเส้นทางการขนส่งสินค้าที่เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ ทั้งทางน้ำ ทางบก และขนส่งมวลชน เพื่อรองรับการค้าและการลงทุนในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน

3. ให้คำปรึกษาสัญจร (AFTA Mobile Unit) กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กรณีการเปิดตลาดตามพันธกรณี AFTA อย่างต่อเนื่องในระหว่างเดือนมกราคม — เมษายน 2553 ดังนี้

3.1 การจัดสัมมนา/ส่งผู้แทนเป็นวิทยากรเข้าร่วมบรรยายในงานประชุม / สัมมนาร่วมกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวม 28 ครั้ง

3.2 การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางสื่อโทรทัศน์ จำนวน 16 ครั้ง วิทยุ จำนวน 10 ครั้ง หนังสือพิมพ์ จำนวน 35 ครั้ง และข่าวแจก จำนวน 8 ครั้ง

4. มาตรการช่วยเหลือ (Remedy Unit)

โครงการเงินช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุน FTA มีเงินงบประมาณสำหรับพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นเงินกันเหลื่อมจากปีงบประมาณ 2552 จำนวน 35.5 ล้านบาท และเงินงบประมาณปี 2553 จำนวน 40.0 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 75.5 ล้านบาท ในปี 2553 คณะกรรมการบริหารเงินช่วยเหลือ ฯ ได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 6 โครงการ วงเงิน 50.0 ล้านบาท สินค้าที่ได้รับความช่วยเหลือ 5 สินค้า ได้แก่ นมโคสด ข้าว สับปะรด บริการท่องเที่ยว และบริการขนส่ง คงเหลือเงินที่จะให้ความช่วยเหลือได้อีกราว 25.5 ล้านบาท

5. ความร่วมมือกับภาคเอกชน

กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดส่งผู้แทนเป็นวิทยากรบรรยายในการประชุม / สัมมนา ของภาคเอกชนจำนวน 9 ครั้ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

6. แผนการดำเนินการ

กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ มีแผนจัดสัมมนาในช่วงที่เหลือ (พฤษภาคม — กันยายน 2553) ดังนี้

6.1 จัดสัมมนาส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาดภายใต้ AFTA จำนวน 6 ครั้ง ในจังหวัดสงขลา จันทบุรี เชียงราย นครราชสีมา ระนอง และอุบลราชธานี

6.2 โครงการจัดสัมมนาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามพันธกรณี AFTA และติดตามสถานการณ์การนำเข้า — ส่งออก ณ จุดผ่านแดน จำนวน 3 ครั้ง ในจังหวัดสงขลา เลย และจันทบุรี

6.3 จัดงาน “DET’68 ปี สู่ความเป็นเลิศ เปิดแนวรุกบุกตลาด AFTA” ในวันพุธที่ 30 มิถุนายน 2553 ณ กรุงเทพฯ รวมทั้งจัดนิทรรศการ เปิดคลินิกให้คำปรึกษาเพื่อให้การใช้สิทธิประโยชน์จาก AFTA ให้มากที่สุด

7. สถานะล่าสุดของการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามความตกลง AFTA

7.1 ไทยได้ทยอยยกเลิกโควตาภาษีสินค้าเกษตรแล้วจำนวน 12 รายการ ตั้งแต่ปี 2546 ได้แก่ มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ กระเทียม ลำไยแห้ง พริกไทย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ น้ำตาล น้ำมันถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ให้สามารถนำเข้าโดยแสดง From D เท่านั้น โดยในส่วนน้ำมันปาล์มให้ อคส. นำเข้า และเส้นไหมดิบต้องขออนุญาตนำเข้า

7.2 สินค้าอีก 9 รายการ ที่ต้องเปิดตลาดในวันที่ 1 มกราคม 2553 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับมาตรการรองรับการนำเข้าสินค้าดังกล่าว โดยมีสถานะการดำเนินการ ดังนี้

  • น้ำนมดิบและนมพร้อมดื่ม นมผงขาดมันเนย ชา เมล็ดกาแฟ และกาแฟสำเร็จรูป ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมสตรี คณะที่ 2 และจะเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีก่อนการประกาศใช้ต่อไป
  • มะพร้าว เมล็ดถั่วเหลือง เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายฯ และจะเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีก่อนการประกาศใช้ต่อไป

7.3 ข้าว คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติมีมติเห็นชอบมาตรการรองรับเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2553 และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับมาตรการรองรับการนำเข้าข้าวเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายฯ

7.4 พริกไทย ลำไยแห้ง กระเทียม หอมหัวใหญ่ เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ประกาศยกเลิกโควตาภาษีไปแล้วตามข้อ 7.1 คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ได้มีมติ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 เห็นชอบมาตรการรองรับการเปิดตลาดเสรี AFTA ตามแนวทางเดียวกับสินค้าตามข้อ 7.2 ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างประกาศเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ