รายงานสรุปสถานการณ์น้ำและมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 14:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปสถานการณ์น้ำและมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

สภาพอากาศ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2553 เป็นต้นมา ประเทศไทยตอนบน มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนชุกหนาแน่น ส่วนในภาคอื่น ๆ มีฝนตกกระจายเป็นแห่งๆ

ในช่วงวันที่ 7-9 มิ.ย. ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง มีฝนกระจาย ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่ง และในช่วงวันที่ 10-13 มิ.ย. ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้ ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนลดลงและคลื่นลมมีกำลังอ่อน

สภาพฝน

ปริมาณฝนในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีฝนตกสะสมระหว่าง 25 - 100 มม. กระจายทั่วประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้บริเวณจังหวัดพังงาและยะลาฝนสะสมมาก100 — 150 มม. และมีพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมน้อยระหว่าง 1 -10 มม.ในบางพื้นที่ของภาคเหนือบริเวณตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

การคาดการณ์ฝน

ในช่วง 7 วันล่วงหน้า ในวันที่ 7 มิถุนายน 2553 จะมีฝนตกหนักในบริเวณภาคเหนือบริเวณจังหวัดเชียงราย น่าน ตาก เพชรบูรณ์ ส่วนบริเวณพื้นที่อื่นมีฝนตกกระจายประมาณ 1-20 มม. ในวันที่ 8 -13 มิถุนายน 2553 ฝนกระจายทั่วประเทศประมาณ 1-20 มม.

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2553 มีปริมาตรน้ำ ทั้งหมดรวม 34,691 ล้านลูกบาศก์เมตร(ร้อยละ 47 ของความจุรวม) คิดเป็นปริมาตรน้ำใช้การได้ 10,846 ล้านลูกบาศก์เมตร(ร้อยละ 15) น้อยกว่าปี 2552 รวม 6,375 ล้านลูกบาศก์เมตร (ณ วันเดียวกันปี 2552 มีปริมาตรน้ำ 41,066 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 30 รวม 12 อ่างจากทั้งหมด 33 อ่าง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 30 รวม 160 อ่างจากทั้งหมด 367 อ่าง ซึ่งมีผลมาจากเกิดฝนตกน้อยกว่าปกติตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับมีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งมากถึง 19.78 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 161 ของแผนที่กำหนดไว้ (12.28 ล้านไร่ ) โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งมากถึง 10.28 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 161 ของแผนที่กำหนดไว้ (6.93 ล้านไร่ ) ซึ่งใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นหลัก

การจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้ง ปี 2553/2554

กรมชลประทานได้คาดการณ์ปริมาณน้ำ พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งสองแห่ง ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 6,700 — 7,550 ล้าน ลบ.ม. ส่วนในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนจะมีปริมาณน้ำเต็มเขื่อนทั้งสองแห่ง การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ในฤดูแล้งปีหน้า น้ำที่ใช้สำหรับการอุปโภค บริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. จะจัดสรรให้โดยใช้น้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 500 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อย 500 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีก 1,000 ล้าน ลบ.ม. และหากป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีในปี 2554 จะต้องเก็บน้ำสำรองไว้เพื่อการนี้ ถึง 4,300 ล้าน ลบ.ม. จึงคงเหลือน้ำที่จะสนับสนุนการทำนาปรังในปี 2553/2554 เพียงประมาณ 2,400 - 3,250 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะสนับสนุนการปลูกข้าวนาปรังได้เพียงประมาณ 2.4 — 3.2 ล้าน ไร่(ปี 2552/2553 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลูกข้าวปรังทั้งสิ้น 9.85 ล้าน ไร่) ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวไม่ได้รวมถึงฝนตกหนักที่อาจเกิดจากพายุจร หากเกิดพายุจรมีฝนตกหนักเต็มพื้นที่รับน้ำของเขื่อนทั้งสองแห่ง อาจทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งสองแห่งเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ ช่วยให้สถานการณ์การปลูกพืชฤดูแล้งปี 2553/2554 ดีขึ้นได้

มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

1. มาตรการเฉพาะกิจ

1.1 ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาใหญ่

  • ขอให้เลื่อนการทำนาปีจากปกติเดือนพฤษภาคมเป็นประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2553
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอให้มีการวางแผนที่จะเปลี่ยนระบบการปลูกพืชใหม่
  • การแก้ไขปัญหาความเค็มของน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง โดยในเดือนมิถุนายน 2553 ช่วงน้ำทะเลหนุนสูงระหว่างวันที่ 12 -19 มิถุนายน 2553

1.2 โครงการชลประทานที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางนอกเขตโครงการลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ บริหารจัดการน้ำโดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม

1.3 พื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยซึ่งเป็นปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค - บริโภค มีหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือโดยนำเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำ

1.4 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้สำนักฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งทำฝนหลวงช่วยเหลือในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง และเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย

1.5 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการแก้มลิงที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งรวมทั้งหมด 190 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ 115 ล้าน ลบ.ม.

1.6 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างจัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน

2. มาตรการระยะกลางและระยะยาว

2.1 ให้กรมพัฒนาที่ดินวางแผนขุดสระเก็บน้ำในไร่นา

2.2 ให้กรมชลประทานจัดทำกรอบการพัฒนาการชลประทานให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการดำเนินการตามแผนพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้เต็มศักยภาพ 60 ล้านไร่

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ