การพิจารณาการตรวจลงตราเข้าราชอาณาจักรไทยแก่ชาวเอธิโอเปียเพื่อการท่องเที่ยวไม่เกิน 15 วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 14:11 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การพิจารณาการตรวจลงตราเข้าราชอาณาจักรไทยแก่ชาวเอธิโอเปียเพื่อการท่องเที่ยวไม่เกิน 15 วัน

ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa-On-Arrival)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบให้บุคคลสัญชาติเอธิโอเปียสามารถขอรับการตรวจลงตราเข้าราชอาณาจักรไทยเพื่อการท่องเที่ยวไม่เกิน 15 วัน ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง

2. มอบหมายสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเสนอร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามเพื่อประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. ในการหารือระหว่างนางเกนเนต เซวีดี (Mrs.Gennet Zewide) เอกอัครราชทูตเอธิโอเปียประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงนิวเดลี กับรักษาการอธิบดีกรมเอเชียใต้ตะวันออกกลางและแอฟริกา เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552 เอกอัครราชทูตเอธิโอเปียฯ ได้แสดงความประสงค์ในการขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาการตรวจลงตราเข้าราชอาณาจักรไทยแก่คนชาติเอธิโอเปียเพื่อสามารถขอรับการตรวจลงตราเข้าราชอาณาจักรไทยเพื่อการท่องเที่ยวไม่เกิน 15 วัน ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa-On-Arrival)

2. เดิมไทยได้กำหนดให้ประเทศเอธิโอเปียอยู่ในรายชื่อประเทศที่คนชาติจะขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2536 และต่อมารัฐบาลได้พิจารณาปรับปรุงรายชื่อประเทศที่คนชาติจะขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นสำคัญ โดยการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2545 จึงส่งผลให้ประเทศในทวีปแอฟริกา 32 ประเทศ ซึ่งรวมถึงเอธิโอเปีย ถูกถอดออกจากรายชื่อประเทศตามประกาศฯ ดังกล่าว ดังนั้น ชาวเอธิโอเปียที่ประสงค์จะเดินทางมายังประเทศไทยจำเป็นต้องขอรับการตรวจลงตราจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งมีเขตอาณาดูแลประเทศเอธิโอเปีย หรือจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา (โดยอนุโลม) เนื่องจากไทยไม่มีสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ในเอธิโอเปีย

3. ที่ผ่านมาสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ได้เปิดเส้นทางการบินตรงระหว่างเอธิโอเปีย-ไทย ส่งผลให้มีชาวเอธิโอเปียเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2552 มีจำนวนมากกว่า 9,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้โอกาสนี้เข้ารับการรักษาและบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลในประเทศไทยควบคู่กันไปด้วย จากสถิติของโรงพยาบาลชั้นนำในไทย ปรากฏอย่างชัดเจนว่าจำนวนชาวเอธิโอเปียที่เข้ารับการบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นทุกปีโดยนิยมเดินทางมาไทยพร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัวและญาติมิตร

4. จากการพิจารณาตามปัจจัยที่พึงพิจารณาพบข้อเท็จจริงในเชิงบวก ดังนี้

4.1 เอธิโอเปียมิได้เป็นประเทศที่มีปัญหาด้านความมั่นคง

4.2 นักท่องเที่ยวเอธิโอเปียที่เดินทางมายังประเทศไทยมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง

4.3 การคมนาคมทางอากาศระหว่างสองประเทศสร้างความสะดวกในการเดินทาง

4.4 ฝ่ายเอธิโอเปียได้ให้สิทธิการขอรับการตรวจลงตราแบบ Visa-On-Arrival แก่บุคคลสัญชาติไทยที่เดินทางไปยังเอธิโอเปียมาโดยตลอด

5. เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเรื่องการขยายการพำนักให้นักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) และประเทศกลุ่ม ผ.30 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยได้นำข้อเสนอของฝ่ายเอธิโอเปียและข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยพึงพิจารณาข้างต้นเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ซึ่งได้เห็นชอบที่จะให้คนชาติเอธิโอเปียได้รับสิทธิการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa-On-Arrival) เพื่อจุดประสงค์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ