ขอความเห็นชอบการทำบันทึกความเข้าใจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 14:16 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบการทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการรับคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนเงินบำนาญแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการรับคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนเงินบำนาญแห่งชาติกับสำนักงานเงินบำนาญแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี โดยปลัดกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนามร่วมกับประธานสำนักงานเงินบำนาญแห่งชาติ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงแรงงานรายงานว่า

1.1 สำนักงานเงินบำนาญแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการและกิจการครอบครัว สาธารณรัฐเกาหลีได้แจ้งความประสงค์ขอทำบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการรับคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนเงินบำนาญแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี และได้จัดส่งร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้กระทรวงแรงงานพิจารณา

1.2 กระทรวงแรงงานได้ศึกษาร่างบันทึกความเข้าใจฯ ตลอดจนหารือกับสำนักงานเงินบำนาญ แห่งชาติฯ เพื่อปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้สอดคล้องกับกฎหมายของทั้งสองประเทศและได้จัดส่งร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ปรับปรุงแล้วให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) พิจารณาและปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งได้ส่งร่างที่ตรวจแก้ไขโดย อส. ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พิจารณาให้ความเห็นแล้ว ซึ่ง กต.มีความเห็นว่าร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ควรนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อสอบถามความเห็นด้านนโยบายตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 มาตรา 4

1.3 กฎหมายว่าด้วยเงินบำนาญแห่งชาติ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ค.ศ. 1995 ของสาธารณรัฐเกาหลีกำหนดให้แรงงานต่างชาติทุกคนที่มีงานทำและอายุระหว่าง 18 — 60 ปี ต้องขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนเงินบำนาญแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี โดยได้รับสิทธิประโยชน์เงินทดแทนที่ชราภาพ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตเช่นเดียวกับคนเกาหลีในกรณีเงินทดแทนชราภาพ แรงงานต่างชาติจะได้รับเป็นเงินบำนาญคืนเมื่อเดินทางออกนอกประเทศอย่างถาวร

1.4 การดำเนินการขอเงินบำนาญคืนในปัจจุบัน กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานจะรวบรวมคำขอรับเงินคืนของแรงงานที่เดินทางกลับประเทศไทยแล้วส่งให้ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เพื่อส่งให้สำนักงานเงินบำนาญแห่งชาติฯ ตรวจสอบสิทธิ หากแรงงานคนใดมีเงินคืน สำนักงานเงินบำนาญแห่งชาติฯ จะส่งเงินคืนแก่คนงานโดยตรง โดยไม่แจ้งผลการดำเนินการและจำนวนเงินที่จ่ายคืนให้กระทรวงแรงงานทราบ

1.5. เมื่อกระทรวงแรงงานลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ แล้ว สำนักงานเงินบำนาญแห่งชาติฯ จะส่งข้อมูลรายชื่อแรงงานที่เดินทางออกจากสาธารณรัฐเกาหลีแล้วและมีสิทธิได้รับเงินคืนให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเป็นระยะ เพื่อตรวจสอบสิทธิที่ประเทศไทย หากคนงานมีสิทธิได้รับเงินคืน จึงจัดทำคำร้องส่งไปให้สำนักงานเงินบำนาญแห่งชาติฯ จ่ายเงินคืนและแจ้งผลให้กระทรวงแรงงานทราบ ซึ่งกระบวนการดำเนินการที่เปลี่ยนแปลงหลังการลงนามมีประโยชน์ดังนี้

1.5.1 สำนักงานเงินบำนาญแห่งชาติฯ จะมีหน่วยเฉพาะกิจรับผิดชอบการคืนเงินบำนาญให้แรงงานไทย

1.5.2 คนงานที่เคยเดินทางไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี สามารถตรวจสอบสิทธิก่อนยื่นคำร้องขอคืนเงิน ซึ่งจะมีความรวดเร็วในการดำเนินการและลดจำนวนคำร้อง

1.5.3 การยื่นคำร้องทุกข์ให้สำนักงานเงินบำนาญแห่งชาติฯ ตรวจสอบหลักฐานใหม่สามารถดำเนินการทำได้ทันที เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่มีสิทธิได้รับเงินคืน

1.5.4 กระทรวงแรงงานมีข้อมูลที่จะแจ้งเตือนคนงานที่มีสิทธิได้รับเงินคืนแต่ยังไม่ได้ยื่น คำร้องให้จัดทำคำร้องขอรับเงินคืนก่อนสิ้นสุดระยะเวลาคืนเงิน

1.6. การลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ไม่มีผลกระทบในทางลบแต่จะเกิดผลดีต่อการขอรับเงินคืนของแรงงานไทยที่ถูกหักเงินรายได้เข้ากองทุนเงินบำนาญแห่งชาติฯ ทำให้มีความสะดวกรวดเร็ว ลดโอกาสสูญเสียสิทธิในการได้รับเงินคืน ซึ่งจะมีผลทำให้มีรายได้จากการทำงานของแรงงานไทยที่ทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีกลับประเทศเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลให้เกิดความผูกพันระหว่างรัฐต่อรัฐ กล่าวคือระหว่างกระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานของประเทศไทยที่ทำหน้าที่คุ้มครองดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี และสำนักงานเงินบำนาญแห่งชาติฯ ที่รับผิดชอบกองทุนเงินบำนาญแห่งชาติฯ ที่จะต้องร่วมกันดำเนินการตามพันธะข้อตกลงในบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อให้แรงงานไทยสามารถขอรับคืนเงินจากกองทุนเงินบำนาญแห่งชาติฯ

2. กระทรวงแรงงานได้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า บันทึกความเข้าใจฯ เป็นการกำหนดกระบวนการดำเนินการของกระทรวงแรงงาน และสำนักงานเงินบำนาญแห่งชาติฯ เพื่อให้การขอรับเงินบำนาญจากสำนักงานเงินบำนาญแห่งชาติฯ คืนให้แก่แรงงานไทยสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้นโดยใช้กฎหมายฉบับต่างๆ ของสาธารณรัฐเกาหลี หมวด 3 รวมทั้งกฎหมายภายในของไทยหมวด 6 และหมวด 9 บังคับกับบันทึกความเข้าใจฯ ดังนั้น ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ