สรุปรายงานสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนพฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 16:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปรายงานสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนพฤษภาคม 2553 ของกระทรวงคมนาคม โดยเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนพฤษภาคม 2552 สถิติอุบัติเหตุเฉพาะการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนเมษายน 2553 กับเดือนพฤษภาคม 2553 ความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน โดยใช้ข้อมูลจากศูนย์ปลอดภัยคมนาคม และระบบ TRAMS จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2553 เวลา 09:00 น. ดังนี้

1. สถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนพฤษภาคม 2553 โดยเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนพฤษภาคม 2552

                  อุบัติเหตุที่รับรายงาน (ครั้ง)            ผู้บาดเจ็บ (ราย)                 ผู้เสียชีวิต (ราย)
สาขาการขนส่ง     พ.ค.52  พ.ค.53  เปรียบเทียบ    พ.ค.52  พ.ค.53   เปรียบเทียบ    พ.ค.52  พ.ค.53   เปรียบเทียบ
ถนน                868     403    -53.60%       633     498     -21.30%        95      52     -45.30%
จุดตัดรถไฟกับถนน       13      10    -23.10%        12       5     -58.30%         5       1     -80.00%
ทางน้ำ                2       0      -100%         8       0       -100%         0       0           -
ทางอากาศ             1       1          -         0       0           -         0       0           -
รวม                884     414    -53.20%       653     503     -23.00%       100      53     -47.00%

หมายเหตุ : ตัวเลข -100% หมายถึง ไม่มีความสูญเสียเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีฐาน

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากภาคการขนส่งในความรับผิดชอบ เปรียบเทียบในช่วงเดือนพฤษภาคมของปี 2552 กับปี 2553 พบว่า ในภาพรวมของทุกสาขาการขนส่งมีจำนวนครั้งของสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงเฉลี่ยร้อยละ 53.2 จำนวนผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 23 และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 47 และเมื่อพิจารณาจากความรุนแรงเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2552 พบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนยังคงสร้างความสูญเสียอย่างร้ายแรง ซึ่งจากสถิติข้างต้น อุบัติเหตุทางถนน เดือนพฤษภาคมปี 2553 พบว่า เกิดขึ้นสูงถึงร้อยละ 97.3 เมื่อเทียบกับการขนส่งระบบอื่น มีผู้บาดเจ็บร้อยละ 98.1 และมีผู้เสียชีวิตร้อยละ 99 โดยการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเดือนพฤษภาคม 2553 มีจำนวนครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวน ผู้เสียชีวิตลดลง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2552 โดยเส้นทางตรงยังคงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจรและไม่ปลอดภัย ได้แก่ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด และการตัดหน้ากระชั้นชิด ยังคงเป็นมูลเหตุสันนิษฐานสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด มีสถิติที่ลดลงร้อยละ 52.4 และการตัดหน้ากระชั้นชิด มีสถิติลดลงร้อยละ 60.9 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปี 2552 นอกจากนี้ ประเภทรถที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญ ได้แก่ รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์

2. สถิติอุบัติเหตุเฉพาะการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนเมษายน 2553 กับเดือนพฤษภาคม 2553

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

             ข้อมูลอุบัติเหตุ                เม.ย. 53       พ.ค. 53    รวม (ม.ค. — พ.ค. 53)
             อุบัติเหตุ (ครั้ง)                 1,481    403 (-72.8%)         5,295
             ผู้เสียชีวิต (ราย)                  322     52 (-83.9%)           850
             ผู้บาดเจ็บ (ราย)                1,947    498 (-74.4%)         5,336

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนระหว่างเดือนเมษายน — พฤษภาคม 2553 เกิดอุบัติเหตุรวม 5,295 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 850 ราย และผู้บาดเจ็บ 5,336 ราย โดยในเดือนพฤษภาคม 2553 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2553 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์

3. ความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน

กระทรวงคมนาคมขอรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการ ดังนี้

3.1 การตรวจสอบพฤติกรรมความพร้อมของผู้ขับขี่ไม่ให้เมาสุรา (แอลกอฮอล์เป็นศูนย์) กรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับรถสาธารณะ โดยในเดือนพฤษภาคม 2553 ได้ดำเนินการตรวจผู้ขับรถสาธารณะจำนวน 110,453 ราย ไม่พบว่ามีผู้ขับรถสาธารณะที่มีแอลกอฮอล์ในเลือด

3.2 การปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย และโค้งอันตราย ประจำเดือนพฤษภาคม 2553

3.2.1 กรมทางหลวงได้ดำเนินงานตามแผนกิจกรรมอำนวยความปลอดภัยเพื่อป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนปีงบประมาณ 2553 ได้ดำเนินการแล้ว จำนวน 102 แห่ง รวมสะสมตั้งแต่มกราคม ถึง พฤษภาคม 2553 คิดเป็นร้อยละ 21.9 ของแผนที่จะดำเนินการรวมทั้งสิ้น 466 แห่ง

3.2.2 กรมทางหลวงชนบทได้แก้ไข/ปรับปรุงจุดอันตรายบริเวณทางโค้งบนทางหลวงชนบทไปแล้ว จำนวน 318 แห่ง รวมสะสมตั้งแต่มกราคม ถึง พฤษภาคม 2553 คิดเป็นร้อยละ 36.34 ของแผนที่จะดำเนินการรวมทั้งสิ้น 875 แห่ง

4. ข้อเสนอเพื่อการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน

จากผลการวิเคราะห์ข้างต้น กระทรวงคมนาคมจะได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้

4.1 ให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังคงมาตรการเร่งรัดการปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางตรง ซึ่งยังคงเกิดอุบัติเหตุในสัดส่วนที่มากกว่าบริเวณอื่น และการแก้ไขปรับปรุงโค้งอันตรายเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

4.2 ให้กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพดำเนินการ

4.2.1 เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบก เช่น การควบคุมความเร็วของรถไม่ให้เกินอัตราที่กำหนดโดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ การกวดขันการใช้งานรถผิดประเภท เช่น การบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากท้ายรถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง เป็นต้น

4.2.2 เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบพฤติกรรมความพร้อมของผู้ขับขี่ไม่ให้เมาสุรา/ยาบ้า/ความอ่อนเพลีย เมื่อยล้า

4.2.3 รณรงค์ให้ผู้ขับขี่ตรวจสภาพความพร้อมของรถก่อนขับขี่ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับขี่ทางไกล

4.3 พัฒนาการให้บริการจุดพักรถ (Rest Area) ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2553 ให้เป็นจุดพักรถถาวรที่สามารถให้บริการประชาชนได้ทั้งในช่วงเทศกาลและในช่วงเวลาปกติ

4.4 เพิ่มความเข้มข้นในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้บริการศูนย์บริการทางหลวง สถานีบริการ เมื่อขับขี่เป็นระยะเวลานาน 3 — 4 ชั่วโมงแล้ว เพื่อป้องกันการง่วงอ่อนเพลียขณะขับขี่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ