เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ รวม 8 ฉบับ
(ร่างพระราช บัญญัติการยกเลิกการสงวนหวงห้ามที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของทางราชการ พ.ศ. ....)
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นว่าไม่สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติรวม 8 ฉบับ (ร่างพระราชบัญญัติการยกเลิกการสงวนหวงห้ามที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของทางราชการ พ.ศ. ....) และให้ส่งคืนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยังสภาผู้แทนราษฎรภายในกำหนดเวลา
ข้อเท็จจริง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการายงานว่า ได้จัดให้มีการประชุมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการยกเลิกการสงวนหวงห้ามที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของทางราชการ พ.ศ. .... ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอ รวม 8 ฉบับ แล้วมีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติการยกเลิกการสงวนหวงห้ามที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของทางราชการ พ.ศ. .... ทั้ง 8 ฉบับ ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอเป็นหลักการเดียวกันกับกรณีที่มีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายเฉพาะอื่นซึ่งสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว การเสนอร่างพระราชบัญญัติทั้ง 8 ฉบับนี้จะเป็นการตรากฎหมายที่มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นใหม่อีกแต่อย่างใด และเป็นการตรากฎหมายที่ให้อำนาจเหนือกว่าบรรดากฎหมายอื่นที่มีบทบัญญัติในเรื่องเดียวกัน รวมทั้งเป็นการตรากฎหมายที่ขัดต่อหลักการตรากฎหมายที่ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป จึงมีความเห็นว่าไม่สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 8 ฉบับดังกล่าว ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ และมีข้อสังเกตเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้
1. การตรากฎหมายเช่นนี้นอกจากจะเป็นการตรากฎหมายที่มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่มีอยู่ดังที่ได้กล่าวแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ราษฎรบุกรุกที่ดินของรัฐเพิ่มมากขึ้น เพราะร่างพระราชบัญญัติทั้ง 8 ฉบับนี้ประสงค์ที่จะให้ราษฎรที่เข้าครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่สงวนหวงห้ามเป็นเวลานานจนกลายเป็นชุมชนหรือเป็นที่อยู่อาศัยทำกิน สามารถยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการหวงห้ามเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินได้ หากปรากฏว่าที่ดินนั้นได้แปรสภาพเป็นชุมชนหรือเป็นที่อยู่อาศัยซึ่งเท่ากับว่าร่างกฎหมายนี้เป็นการรองรับสิทธิให้แก่ราษฎรที่มีการบุกรุกเข้าครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้เป็นการครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งๆ ที่โดยกฎหมายแล้วราษฎรไม่มีสิทธิในการอ้างสิทธิต่อสู้ในการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใด
2. ในกรณีที่ราษฎรไม่มีที่ดินทำกินหรืออยู่อาศัยก็มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจในการจัดที่ดินเพื่อเป็นที่ทำกินหรืออยู่อาศัยได้อยู่แล้ว เช่น กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ เป็นต้น รัฐจึงควรใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่แล้วนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาของราษฎรและจะ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องตามกฎหมายและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎรโดยทั่วไป นอกจากนั้นยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมิให้ถูกทำลายเพิ่มมากขึ้นด้วย
3. หากเห็นว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่มีขั้นตอนหรืออุปสรรคต่อการดำเนินการ ก็ควรใช้มาตรการทางบริหารในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความชอบด้วยกฎหมายเป็นสำคัญ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2553--จบ--