ยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2553 — 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 15:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2553 — 2557 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยให้รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สำหรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2553 — 2557 นั้นให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่เสนอว่า จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยคำนึงถึง ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติภาระงบประมาณ และศักยภาพของหน่วยงานที่จะดำเนินการต่อไป โดยให้รับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงบประมาณซึ่งเสนอให้ทบทวนวงเงินงบประมาณของมาตรการ/แนวทางดำเนินงานใน แต่ละยุทธศาสตร์ โดยพิจารณาถึงความคุ้มค่าของงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการในแต่ละปีเป็นสำคัญ และควรปรับปรุง แผนงาน/โครงการ/งบประมาณ ภายใต้มาตรการ/แนวทางดำเนินงานของยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับระยะเวลาและสถานภาพปัจจุบันไปดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติรายงานว่า

1. คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการของยุทธศาสตร์สับปะรด และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ปรับปรุงตามประเด็นข้อเสนอของคณะอนุกรรมการสับปะรดไทย รวมทั้งปรับแก้ไขสถานการณ์ให้เป็นปัจจุบันและรูปแบบเนื้อหาให้เป็นไปตามมาตรฐาน และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้ปรับปรุงยุทธศาสตร์สับปะรดเรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 วิสัยทัศน์ ประเทศไทยรักษาความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในการผลิต การส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรดที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน

2.2 เป้าหมาย

2.2.1 การผลิต : 1) รักษาระดับพื้นที่ให้ผลผลิตสับปะรดในเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสับปะรดไม่ให้เกิน 6 แสนไร่ต่อปี 2) เพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่จาก 3.90 ตัน ในปี 2551 เป็น 6.00 ตัน ในปี 2557 3) เพิ่มผลผลิตรวมจาก 2.30 ล้านตัน ในปี 2551 เป็น 3.00 ล้านตัน ในปี 2557

2.2.2 การใช้ในประเทศ : 1) เพิ่มการบริโภคสับปะรดภายในประเทศจากประมาณ 0.25 ล้านตัน ในปี 2551 เป็น 0.60 ล้านตัน ในปี 2557 2) เพิ่มความต้องการใช้สับปะรดเพื่อการแปรรูปจาก 1.55 ล้านตัน ในปี 2551 เป็น 2.40 ตัน ในปี 2557 3) การส่งออก - เพิ่มมูลค่าส่งออกสับปะรดสดจาก 45 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 110 ล้านบาท ในปี 2557 - เพิ่มมูลค่าส่งออกสับปะรดแปรรูปจาก 25,945 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 30,000 ล้านบาทในปี 2557

2.3 ยุทธศาสตร์และมาตรการดำเนินงาน

2.3.1 ยุทธศาสตร์ด้านการผลิต วงเงินงบประมาณ 1,215.33 ล้านบาท โดยมีมาตรการดำเนินงาน ได้แก่ 1) การส่งเสริมการปลูกสับปะรดในพื้นที่ที่เหมาะสม 2) การพัฒนาความรู้ความสามารถเรื่องสับปะรดแก่เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด 3) การป้องกันการแพร่กระจายของโรคและแมลงเกี่ยวกับสับปะรด 4) การเพิ่มประสิทธิภาพ การให้น้ำสับปะรด 5) การพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง 6) การสร้างและพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่าง กลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด 7) การวิจัยและพัฒนาการผลิตสับปะรด

2.3.2 ยุทธศาสตร์ด้านการแปรรูป วงเงินงบประมาณ 115.70 ล้านบาท โดยมีมาตรการดำเนินงาน ได้แก่ 1) การพัฒนาโรงงานแปรรูปสับปะรดให้เข้มแข็ง 2) การวิจัยและพัฒนาการแปรรูปสับปะรด

2.3.3 ยุทธศาสตร์ด้านตลาด วงเงินงบประมาณ 96.90 ล้านบาท โดยมีมาตรการดำเนินงาน ได้แก่ 1) การเพิ่มปริมาณและมูลค่าการบริโภคสับปะรดสดในประเทศ 2) การเพิ่มปริมาณและมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สับปะรดในประเทศ 3) การเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออกสับปะรดสดและผลิตภัณฑ์ 4) การวิจัยตลาดสับปะรดและผลิตภัณฑ์

2.3.4 ยุทธศาสตร์ด้านบริหารจัดการ วงเงินงบประมาณ 56.20 ล้านบาท โดยมีมาตรการดำเนินงาน ได้แก่ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเรื่องสับปะรดทั้งระบบ 2) การพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร 3) การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสถาบันเกษตรกรกับโรงงานแปรรูปสับปะรด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ