คณะรัฐมนตรีพิจารณายุทธศาสตร์การแข่งขันกล้วยไม้ไทยในตลาดโลก พ.ศ. 2554 — 2559 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แล้วมีมติ ดังนี้
1. รับทราบรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการผลักดันการส่งออกกล้วยไม้ ปีละ 10,000 ล้านบาท
2. เห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์การแข่งขันกล้วยไม้ไทยในตลาดโลก พ.ศ. 2554 — 2559 โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การแข่งขันกล้วยไม้ไทยในตลาดโลก พ.ศ. 2554 — 2559 และให้ถือเป็นนโยบายให้ทั้งภาครัฐร่วมกับหน่วยงานและเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ร่วมมือปฏิบัติ
3. ในส่วนของงบประมาณรองรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า
1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานโครงการผลัดดันการส่งออกกล้วยไม้ปีละ 10,000 ล้านบาท ปี 2551 — 2553 ตามมติคณะรัฐมนตรี (22 ตุลาคม 2550) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มขีดความสามารถด้านการตลาด และปรับระบบบริหารจัดการกล้วยไม้ บริหารกำกับดูแลโครงการโดยคณะกรรมการกล้วยไม้แห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอื่นๆ และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
1.1 งบประมาณดำเนินการ
งบประมาณที่ใช้จริงเพื่อการดำเนินงานโครงการฯ ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปี 2551 — 2553 จำนวน 38,358,382 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.13 ของกรอบงบประมาณโครงการ จำนวน 625.47 ล้านบาท (งบประมาณที่ได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 605.85 ล้านบาท รวมกับงบประมาณที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับจัดสรรเพื่อดำเนินงานโครงการฯ ในงบประมาณปกติ ปี 2551 จำนวน 19.62 ล้านบาท)
1.2 ผลการดำเนินงานตามโครงการและงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการ (ปี 2551 — 2552)
2. เนื่องจากโครงการผลักดันการส่งออกกล้วยไม้ ปีละ10,000 ล้านบาท จะสิ้นสุดในปี 2553 คณะกรรมการกล้วยไม้แห่งชาติได้มีการจัดประชุม ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2552 และได้ร่วมพิจารณาสถานการณ์กล้วยไม้พบว่า มูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ของไทยลดลง โดยการส่งออกดอกกล้วยไม้ปี 2551 มีมูลค่า 2,411 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 5.3 ซึ่งผลที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ และคาดว่าจะส่งผลกระทบในทางลบต่อโครงการ
3. คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนโครงการผลักดันการส่งออกกล้วยไม้ ปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อพิจารณาทบทวนแผนงานโครงการเป้าหมาย กิจกรรม และระยะเวลาการดำเนินงานใหม่ และให้วิเคราะห์ร่วมกับผู้ส่งออกให้ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเป้าหมายโครงการ และจัดทำรายละเอียดโครงการที่ทบทวนและปรับปรุงแล้ว เสนอต่อคณะกรรมการฯ ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า สาเหตุสำคัญ 2 ประการ ที่ทำให้มูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ไม่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของโครงการ คือ
3.1 ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกซึ่งประเทศที่ประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ทั้งประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในสหภาพยุโรปต่างเป็นคู่ค้าที่สำคัญในการนำเข้ากล้วยไม้จากประเทศไทยทำให้มูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ของไทยซึ่งถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง
3.2 งบประมาณในการดำเนินงานตามโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับจัดสรรเพียงร้อยละ 6.13 ของกรอบงบประมาณโครงการ
4. นอกจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีปัญหาการผลิตและการตลาด ดังนี้
4.1 ด้านการผลิตยังพบปัญหาคุณภาพผลผลิตไม่สม่ำเสมอ ปัญหาการปนเปื้อนของโรคแมลงศัตรูพืช รวมทั้งขาดการพัฒนาพันธุ์ใหม่ให้ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องในขณะที่ปัจจุบันมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ประเทศคู่ค้านำมาบังคับใช้ในการนำเข้าสินค้าเข้าไปในประเทศของตน
4.2 ด้านการตลาดประเทศไทยยังขาดการส่งเสริมการขยายตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ขาดระบบการบริหารจัดการเชื่อมโยงเครือข่ายคลัสเตอร์และปัญหาด้านโลจิสติกส์ ซึ่งหากประเทศไม่เร่งพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมกล้วยไม้อย่างจริงจัง อาจทำให้ไม่สามารถรักษาระดับความเป็นผู้นำในการส่งออกอันดับ 1 ของโลกได้อย่างยั่งยืน
5. คณะทำงานทบทวนโครงการฯ ได้จัดทำโครงการที่ทบทวนแล้วนำเสนอคณะกรรมการกล้วยไม้แห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 มีมติให้ปรับโครงการเป็นยุทธศาสตร์และมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การแข่งขันกล้วยไม้ไทยในตลาดโลก พ.ศ.2554 — 2559 เพื่อให้ต่อเนื่องจากโครงการผลักดันการส่งออกกล้วยไม้ ปีละ 10,000 ล้านบาท ที่จะสิ้นสุดโครงการในปี 2553 โดยมีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกกล้วยไม่ โดยมีเป้าหมายอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 19.24 ต่อปี และมีเป้าหมายการส่งออกมูลค่า 10,000 ล้านบาท ในปี 2559 ดังนี้
ตารางแสดงอัตราเพิ่มของมูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ ปี 2552 — 2559
ปี ดอกกล้วยไม้ ต้นกล้วยไม้ รวม 2551 2,411 423 2,835 2552 2,550 450 3,000 2553 3,000 500 3,500 2554 3,400 600 4,000 2555 4,000 700 4,700 2556 4,980 870 5,850 2557 5,900 1,150 7,050 2558 7,200 1,300 8,500 2559 8,500 2,500 10,000 อัตราเพิ่ม(ร้อยละ) 19.09 25.31 19.24
สำหรับแผนงานตามยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 แผนงาน 9 โครงการ
6. การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์มีคณะกรรมการกล้วยไม้แห่งชาติเป็นกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และบูรณาการงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยกำหนดหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุนในแต่ละโครงการ/กิจกรรม เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและทำให้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เป็นไปอย่างมีประสิทธภาพมากที่สุด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2553--จบ--