ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 15:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เรื่องข้อเสนอแนวทางและมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจากความขัดแย้งทางการเมือง ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เสนอดังนี้

1. เห็นชอบกรณีให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนค่าที่พักในโรงแรมที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มาหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 15,000 บาท โดยขยายขอบเขตตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 รวมทั้งให้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้อง และให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

2. มอบหมายกระทรวงแรงงาน ดำเนินโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาให้กับพนักงานและ ลูกจ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ตามแนวทางของโครงการต้นกล้าอาชีพ โดยประสานกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการใช้ฐานข้อมูลจากทะเบียนของศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประกอบ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากวิกฤต เป็นฐานกลุ่มเป้าหมาย

3. มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับไปพิจารณาสนับสนุนร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อการดำเนินโครงการศึกษาโครงสร้างอาชีพอิสระด้านการท่องเที่ยวที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ตามที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยได้พิจารณาข้อเสนอแนวทางและมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจากความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเสนอโดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) โดยมีข้อเสนอเพื่อพิจารณา ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้

1. ข้อเสนอเพื่อพิจารณา

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้รายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ สทท. เพื่อกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม — พฤษภาคม 2553 ได้แก่ การจัดทำรายงานประเมินผลกระทบและข้อเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย การร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อระดมความคิดเห็นแนวทางการช่วยเหลือและและการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ และจัดตั้ง “ศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากวิกฤต” เพื่อเป็นศูนย์กลางรับข้อมูลร้องเรียนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนวทางและมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจากความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้คณะกรรมการ กรอ. พิจารณา ดังนี้

1.1 ให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนค่าที่พักในโรงแรมที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย มาหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 15,000 บาท เนื่องจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวในปัจจุบัน มากกว่าร้อยละ 80 เป็นการท่องเที่ยวด้วยตนเอง (Free Independent Traveler : FIT)

1.2 ขอรับการสนับสนุนงบประมาณการฝึกอบรมระยะเวลา 2 เดือน ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง จำนวน 3,000 ราย ได้แก่ มัคคุเทศก์ ผู้ให้บริการนวด/สปา เป็นต้น เพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศที่มีศักยภาพทางการตลาด เช่น ภาษาอินโดนีเซีย เกาหลี รัสเซีย บราซิล และประเทศในแถบยุโรปตะวันออก

1.3 ให้ สทท. ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศึกษาโครงสร้างอาชีพอิสระด้านการท่องเที่ยวที่อยู่นอกระบบประกันสังคม เช่น มัคคุเทศก์ เจ้าของรถและเรือร่วมบริการนักท่องเที่ยว ผู้ให้บริการนวดและสปา เป็นต้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับใช้ในการกำหนดแนวทางและมาตรการส่งเสริมและพัฒนาในระยะกลางและระยะยาว โดยใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

2. ความเห็นและประเด็นอภิปราย

2.1 ผู้แทน สทท. ชี้แจงรายละเอียดของข้อเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการเพิ่มเติม ดังนี้

1) การยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดาให้กับผู้เสียภาษีเฉพาะที่จ่ายเป็นค่าบริการนำเที่ยวให้กับธุรกิจนำเที่ยว จะเป็นการบิดเบือนโครงสร้างการท่องเที่ยวของประเทศ รวมทั้งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำจากมาตรการของรัฐในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เนื่องจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 80 เป็นการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเองโดยไม่ผ่านบริษัทนำเที่ยว ดังนั้น จึงควรพิจารณาให้การยกเว้นภาษีครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการท่องเที่ยวในทุก ๆ ด้านด้วย โดยเฉพาะค่าที่พักแรม ซึ่งสามารถตรวจสอบหลักฐานการใช้จ่ายได้ชัดเจน

2) ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่ได้เป็นพนักงานประจำในสถานประกอบการ เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ให้บริการนวดและสปา เป็นต้น ซึ่งนับเป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมเช่นเดียวกัน โดยนับตั้งแต่ สทท. เปิดศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากวิกฤต เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้มาร้องเรียนและขอรับความช่วยเหลือประมาณ 2,500 คน (ร้อยละ 90 มีอาชีพมัคคุเทศก์) สทท. จึงเห็นว่าในช่วงที่กำลังรอการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มนี้ โดยจะขอรับการสนับสนุนโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษา ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนตามรูปแบบโครงการต้นกล้าอาชีพ จะใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท (8,800 บาท/คน) สำหรับผู้เข้าอบรม 3,000 คน โดย สทท. จะประสานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บริษัทนำเที่ยว และสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ เพื่อจัดหาบุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการเข้ารับการฝึกอบรม

3) ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางการส่งเสริมพัฒนาที่เหมาะสมกับสาขาวิชาชีพในระยะต่อไป

2.2 การยกเว้นภาษีเฉพาะผู้ซื้อบริการผ่านบริษัทนำเที่ยว ตามวัตถุประสงค์เดิมของกระทรวงการคลัง เพื่อต้องการให้ผู้ประกอบการด้านธุรกิจนำเที่ยวเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์และ เป้าหมายในการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาล ดังนั้น กระทรวงการคลังยินดีจะขยายให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายด้านที่พักตามที่ สทท. เสนอ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาถึงความเป็นธรรมกับธุรกิจอื่นด้วย เช่น ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจร้านอาหาร เป็นต้น

2.3 มาตรการด้านภาษีนับเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ จึงอาจเสนอเป็นทางเลือกหลายๆ ช่องทาง เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวได้เลือกตามพฤติกรรมการท่องเที่ยว เช่น หากต้องการเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว จะได้รับการยกเว้นภาษีตามหลักการเดิมคือไม่เกิน 15,000 บาท แต่หากต้องการเดินทางโดยอิสระ สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ไม่เกิน 12,000 บาท เป็นต้น

2.4 ควรกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินมาตรการยกเว้นภาษีให้ชัดเจน ซึ่งควรจะเป็นมาตรการยกเว้นชั่วคราวเฉพาะช่วงที่ประสบกับวิกฤตเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติจึงยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงสร้างตลาดท่องเที่ยวและระบบภาษีที่แท้จริงของประเทศ โดยอาจจะยึดตามหลักการเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไปแล้ว คือ นับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553

2.5 การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะให้กับพนักงานและลูกจ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตามแนวทางของโครงการต้นกล้าอาชีพ กระทรวงแรงงานมีแผนงานและงบประมาณดำเนินโครงการอยู่แล้ว จึงเห็นควรให้กระทรวงแรงงานรับไปดำเนินการตามข้อเสนอของ สทท. โดยเห็นควรให้เปลี่ยนภาษาบราซิลเป็นภาษาสเปน และเพิ่มเติมภาษาอาหรับ

3. มติคณะกรรมการ กรอ.

3.1 เห็นชอบกรณีให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนค่าที่พักในโรงแรมที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มาหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 15,000 บาท โดยขยายขอบเขตตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 รวมทั้งให้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้อง และให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

3.2 มอบหมายกระทรวงแรงงาน ดำเนินโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาให้กับพนักงานและลูกจ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ตามแนวทางของโครงการต้นกล้าอาชีพ โดยประสานกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการใช้ฐานข้อมูลจากทะเบียนของศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากวิกฤต เป็นฐานกลุ่มเป้าหมาย

3.3 มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับไปพิจารณาร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการศึกษาโครงสร้างอาชีพอิสระด้านการท่องเที่ยวที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ตามที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ