การติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 15:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ด้วยรองนายกรัฐมนตรี (พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รองเลขาธิการพระราชวัง (นายดิสธร วัชโรทัย) พร้อมคณะ ได้เดินทางไปตรวจการตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำและ สถานการณ์น้ำ รวมทั้งการปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 ในเขตพื้นที่จังหวัดตาก อุตรดิตถ์ และแพร่ เพื่อติดตามและตรวจเยี่ยมกำลังพลของคณะปฏิบัติการฝนหลวงที่สนามบินจังหวัดตากและจังหวัดแพร่ รวมทั้งไปสังเกตการณ์ระดับเก็บกักน้ำ ณ ที่ทำการเขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ผู้ร่วมเดินทาง

รองนายกรัฐมนตรี (พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธีระ วงศ์สมุทร) รองเลขาธิการพระราชวัง(นายดิสธร วัชโรทัย) และคณะ พร้อมด้วย นักข่าว สื่อมวลชน รวมทั้งสิ้น 30 คน

2. วัน เวลา และ สถานที่

วันจันทร์ ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ในเขตพื้นที่ จังหวัดตาก อุตรดิตถ์ และแพร่

3. วัตถุประสงค์ของการเดินทาง

เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพลของคณะปฏิบัติการและติดตามผลของการปฏิบัติการฝนหลวง พร้อมทั้งสังเกตและติดตามสถานการณ์น้ำ ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมทั้งมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

4. สรุปผลการเดินทาง

ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกำลังพลของคณะปฏิบัติการฝนหลวงที่สนามบินจังหวัดตาก และจังหวัดแพร่ เดินทางไปสังเกตการณ์ระดับเก็บกักน้ำ ฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในเขื่อน การปฏิบัติการฝนหลวง และแถลงข่าว ณ ที่ทำการเขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งสามารถประมวลและสรุปได้ดังต่อไปนี้

5. การปฏิบัติการฝนหลวง

สืบเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ สำนักฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งทำฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึง ปลายฤดูฝนในปีนี้ สำหรับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือนั้นให้เน้นการปฏิบัติการเติมน้ำลงในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำอยู่ต่ำมาก โดยให้ปรับแผนและเริ่มปฏิบัติการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นมา

ผลการปฏิบัติการฝนหลวง ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2553 นั้นรวมการปฏิบัติการทั้งสิ้น 69 วัน ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีฝนตกตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 68 วัน หรือคิดเป็นร้อยละ 98 .5 มีพื้นที่ฝนตกตามที่เป้าหมายกำหนด กล่าวคือ 55.9 ล้านไร่ จะพบได้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่นั้น มีฝนตกสะสมโดยเฉลี่ย 100-200 มิลลิเมตร พื้นที่บางส่วนได้รับน้ำฝนสะสม 200 — 250 มิลลิเมตร

ถึงแม้ฝนที่ตกในช่วงนี้จะมาจากฝนหลวง หรือฝนที่ที่ตกโดยธรรมชาติก็ตาม แต่จะไม่ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนมากนัก เนื่องจาก เนื้อดินค่อนข้างแห้ง ดินจะซับน้ำฝนที่ตกลงมาเอาไว้ให้เกิดความชุ่มชื้น และอิ่มตัว ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงมากขึ้น เมื่อมีฝนตกในวันข้างหน้า

รองเลขาธิการพระราชวัง(นายดิสธร วัชโรทัย) แจ้งให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใย ต่อสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ทรงพระราชทานฝนหลวงพิเศษ 3 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่ ปฏิบัติการเติมน้ำลงเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์และแควน้อย ศูนย์ปฏิบัติการนครสวรรค์ ปฏิบัติการเติมน้ำลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และศูนย์ปฏิบัติการขอนแก่น ปฏิบัติการเติมน้ำลงเขื่อนอุบลรัตน์ พร้อมทั้งทรงมีพระราชดำริ ด้านเทคนิคในการปฏิบัติการให้เกิด ฝนตกลงในอ่างเก็บน้ำอีกด้วย

สถานการณ์น้ำในเขื่อน

ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553 นั้นมีปริมาณน้ำใช้การ 377 ล้าน ลบ. ม. และ 498 ล้าน ลบ.ม. รวมกันเพียง 875 ล้าน ลบ. ม. เท่านั้น ซึ่งถือได้ว่ายังอยู่ในขั้นวิกฤติ ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในช่วงเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา เฉลี่ยวันละ 0.43 ล้าน ลบ. ม. สำหรับเขื่อนภูมิพล และ 5.05 ล้าน ลบ.ม. สำหรับเขื่อนสิริกิติ์ หากต้องระบายน้ำ วันละ 20 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศวิทยา และการอุปโภคบริโภค ตามที่กรมชลประทานร้องขอ โดยระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลวันละ 8 ล้าน ลบ. ม. และเขื่อนสิริกิติ์ วันละ 12 ล้าน ลบ. ม. หากไม่มีปริมาณน้ำ ไหลเข้าเขื่อนตลอดช่วงเดือน มิถุนายน — กรกฎาคม พ.ศ. 2553 จะทำให้เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 45 วัน ส่วนเขื่อนสิริกิติ์จะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้อีกไม่เกิน 60 วัน

อย่างไรก็ตาม สภาพดินในปัจจุบันในบริเวณพื้นที่รับน้ำฝน ที่จะทำให้น้ำไหลเข้าอ่าง เริ่มอิ่มตัวด้วยน้ำ และคาดการณ์ว่าหลัง กลางเดือนกรกฎาคม จะมีฝนตกตามฤดูกาล หากเป็นเช่นนั้น คาดว่าจะมีปริมาณน้ำในอ่างเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศวิทยา

การประชาสัมพันธ์ ในช่วงวิกฤติ

ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศให้เกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปี ออกไปจนถึงกลางเดือน กรกฎาคมหรือจนกว่าจะมีฝนตกต้องตามฤดูกาลนั้น ทางจังหวัดได้ช่วยรณรงค์ และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อวิทยุชุมชน และหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เพื่อให้เกษตรกรทราบถึงการเลื่อนทำนาปี และรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด ปรากฏว่าเกษตรกรมีความตื่นตัว รับทราบเหตุการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น และมีการพยามปฏิบัติตามในสิ่งที่ได้ประชาสัมพันธ์ไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ