การลงนามพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 16:00 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 2

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติให้มีการลงนามในร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน (ASEAN — China Free Trade Area : ACFTA) ฉบับที่ 2 และมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนาม

2. นำร่างพิธีสารฯ ตามข้อ 1 เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนาม หลังการดำเนินการตามข้อ 2 เสร็จสิ้นแล้ว และแจ้งผลการรับรองผูกพันพิธีสารฯ ของประเทศไทยต่อประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนอย่างเป็นทางการ

ข้อเท็จจริง

กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า

1. นับตั้งแต่ความตกลง ACFTA มีผลใช้บังคับในปี 2548 อาเซียนและจีนได้ทยอยลดภาษีจนปัจจุบันนำเข้าในรายการสินค้าปกติได้ลดลงเหลือ ร้อยละ 0 แล้ว เหลือเพียงสินค้าในรายการอ่อนไหวประมาณร้อยละ 10 ที่จะทยอยลดภาษีในระยะต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลง ACFTA ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

2. เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีข้อร้องเรียนจากผู้นำเข้าและส่งออกทั้งในอาเซียนและจีนไม่ว่าสามารถใช้พิเศษทางภาษีจากความตกลงในข้อ 1 ได้เต็มที่เนื่องจากระเบียบพิธีการภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Operational Certification Procedure) ของความตกลง ACFTA ยังคงเป็นอุปสรรคอยู่ กระทรวงพาณิชย์จึงได้จัดทำพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 2 ซึ่งเกี่ยวกับการปรับปรุงระเบียบพิธีการภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประเทศภาคีในการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน — จีนให้ มากขึ้น

3. เมื่อลงนามร่างพิธีสารฯ แล้ว จะต้องมีการแก้ไขคำสั่งและประกาศกรมศุลกากรที่จะใช้เพื่อรองรับระเบียบพิธีการภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Operational Certification Procedure) ที่มีการปรับปรุงใหม่นี้ และกระทรวงพาณิชย์จะแจ้งต่อกระทรวงการต่างประเทศให้แจ้งประเทศภาคีทราบถึงการเสร็จสิ้นของกระบวนการภายในประเทศที่ทำให้ความตกลงฯ มีผลผูกพันกับประเทศ

4. อาเซียนและจีนตั้งเป้าหมายให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจลงนามในพิธีสารดังกล่าวในช่วงระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ในเดือนสิงหาคม 2553 เพื่อให้พิธีสารฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ปรับเนื้อหาให้ผู้นำเข้าสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้เงื่อนไขที่เรียกว่า Movement Certificate

2. กำหนดให้ผู้นำเข้าสามารถให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร สำหรับสินค้าที่มีการซื้อขายผ่านประเทศนายหน้าภายใต้เงื่อนไขที่เรียกว่า Third Party Invoicing

3. เปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาของการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ฟอร์ม อี (ใบรับรองกำเนินสินค้าเพื่อใช้สิทธิ ACFTA) ให้สามารถกระทำก่อนหรือขณะเวลาที่มีการรับบรรทุกหลังการรับบรรทุก จากเดิมที่กำหนดให้กระทำได้ขณะเวลาที่มีการส่งออกหรือหลังการส่งออก

4. ระบุวิธีการดำเนินการเพื่อให้ศุลกากรสามารถตรวจปล่อยสินค้าได้โดยสะดวกมากขึ้นในกรณีที่มีความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ

5. ระบุวิธีการตรวจปล่อยสินค้าในกรณีมีความสงสัยเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดสินค้าที่ชัดเจน ทำให้ศุลกากรสามารถดำเนินการเพื่อการตรวจปล่อยสินค้าในกรณีนี้ได้รวดเร็วมากขึ้น

6. กำหนดให้หน่วยงานที่ออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจัดเก็บคำร้องและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำร้องเป็นเวลา 3 ปี เพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งกำหนดไว้ 2 ปี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ