การเข้าร่วมความคิดริเริ่มระดับโลกเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 16:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอทั้ง 2 ข้อดังนี้

1. อนุมัติให้ไทยเข้าร่วมความคิดริเริ่มระดับโลกเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์ (Global Initiative to Combat Nuclear Terrorism : GICNT) โดยมอบหมายให้ กต. เป็นหน่วยงานประสานกลาง

2. เห็นชอบต่อร่างหนังสือรับรอง (Letter of Endorsement) และให้ กต. ส่งหนังสือดังกล่าวไปยัง กต. ประเทศสหรัฐอเมริกา และสหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อให้ไทยเข้าร่วม GICNT อย่างสมบูรณ์และสามารถเข้าประชุมเต็มคณะของ GICNT และกิจกรรมอื่นๆ ในกรอบ GICNT ได้

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า

1. เมื่อปี 2549 สหรัฐอเมริกาและสหพันธรัฐรัสเซียได้ร่วมกันจัดตั้ง GICNT เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อป้องปรามการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันภัยจากการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์ โดยเฉพาะการป้องกันการจัดหา การครอบครอง การขนส่งวัสดุนิวเคลียร์ และวัสดุกัมมันตรังสี และการพัฒนาวัสดุดังกล่าว เพื่อวัตถุประสงค์สำหรับการก่อการร้าย รวมทั้งการป้องกันการโจมตีสถานที่ทางนิวเคลียร์ โดยมีเป้าหมายในการรวมแนวปฏิบัติด้านการไม่แพร่ขยายอาวุธและการต่อต้านการก่อการร้ายเข้าไว้ด้วยกันและสร้างความเป็นบูรณาการในการต่อต้านการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประเทศที่เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้

2. การดำเนินการในกรอบ GICNT เป็นไปตามแถลงการณ์ว่าด้วยหลักการ (Statement of Principles) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจและความรับผิดชอบของตน (self-dependent responsibility) โดยสอดคล้องกับอำนาจทางกฎหมายของแต่ละประเทศ และพันธกรณีภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ GICNT มิได้เป็นความตกลงระหว่างประเทศ แต่เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ไม่กำหนดพันธกรณี และไม่มีการบังคับให้ต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศเพื่อรองรับความร่วมมือในกรอบนี้ รวมทั้งการเข้าร่วม GICNT ไม่มีการลงนามในเอกสารใดๆ แต่ประเทศที่ต้องการเข้าร่วมจะต้องส่งหนังสือแจ้งรับรองต่อแถลงการณ์ว่าด้วยหลักการไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และรัสเซียซึ่งเป็นประธานร่วมของ GICNT

3. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้มีหนังสือเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (Nuclear Security Summit : NSS) เมื่อวันที่ 12 — 13 เมษายน 2553 ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เข้าร่วมการประชุมแทน ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์ รวมทั้งหารือเกี่ยวกับมาตรการในการรักษาความปลอดภัยต่อวัสดุนิวเคลียร์ และป้องกันการลักลอบค้าวัสดุนิวเคลียร์ ซึ่งกรอบความร่วมมือที่สหรัฐฯ และหลายประเทศให้ความสำคัญ ได้แก่ GICNT โดยระหว่างการประชุมเตรียมการกับนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้าร่วมการประชุม NSS กต. ได้เสนอเรื่องการเข้าร่วม GICNT ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เคยหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว และในหลักการไม่มีหน่วยงานใดขัดข้อง จึงเห็นว่าการประชุม NSS น่าจะเป็นโอกาสอันดีและเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ไทยจะประกาศเข้าร่วม GICNT ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและรองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) มีคำกล่าวต่อที่ประชุมเต็มคณะ ประกาศการเข้าร่วม GICNT ของไทย ทั้งนี้ อาร์เจนตินา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ประกาศเข้าร่วม GICNT ระหว่างการประชุม NSS ด้วยเช่นกัน

4. เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 กต. ได้จัดบรรยายสรุปเกี่ยวกับผลการประชุม NSS แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประกาศการเข้าร่วม GICNT ของไทยระหว่างการประชุมดังกล่าว ในการนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมยุทธการทหารบก สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กรมยุทธการทหารเรือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมยุทธการทหารอากาศ และกระทรวงกลาโหม ได้แจ้งยืนยันความเห็นในการเข้าร่วม GICNT ของไทยเป็นลายลักษณ์อักษร โดยไม่มีหน่วยงานใดขัดข้อง

5. หลายประเทศได้แสดงความยินดีกับไทยที่เข้าร่วม GICNT และแสดงความหวังว่า ไทยจะสามารถดำเนินการเพื่อเข้าร่วม GICNT อย่างสมบูรณ์ และสามารถเข้าร่วมการประชุมเต็มคณะ (Plenary Meeting) ของ GICNT ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ณ กรุงอาบูดาบี ได้ทัน ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมประจำปีของประเทศที่เข้าร่วม GICNT ซึ่งเป็นเวทีในการหารือถึงแผนงานและกิจกรรมในกรอบ GICNT ในปีถัดไป และโดยที่ไทยจะดำเนินการเพื่อเข้าร่วม GICNT อย่างสมบูรณ์ ด้วยการส่งหนังสือแจ้งรับรองต่อแถลงการณ์ว่าด้วยหลักการไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่ง กต. เห็นควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในแง่นโยบายเกี่ยวกับการดำเนินการ ดังกล่าวภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2553 เพื่อ กต. จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ