การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 16:19 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับที่ 2 (ปี 2553 — 2557)

และการจัดทำข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (ปี 2253 — 2557)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ฉบับที่ 2 (ปี 2553 — 2557) และร่างข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (ปี 2553 — 2557) โดยให้ กต. และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) สามารถเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในส่วนที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ และร่างข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจฯ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามแผนปฏิบัติการร่วมฯ

3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามร่างข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจ

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า

1. รัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศสมีดำริที่จะจัดทำร่างแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ฉบับที่ 2 (ปี 2553 — 2557) เพื่อเป็นกรอบกำหนดแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศให้มีผลคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะเป็นการลงนามร่วมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศในโอกาสการเยือนฝรั่งเศสของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระหว่างวันที่ 21 — 22 มิถุนายน 2553 และในส่วนของข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจฯ ซึ่งเป็นข้อบทหนึ่งในแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 2 นั้น ทั้งสองฝ่ายจะจัดให้มีการลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของฝรั่งเศสซึ่งกำหนดวันร่วมลงนามดังกล่าวจะกระทำกันในโอกาสแรก ทั้งนี้ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1.1 แผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 2

1.1.1 รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นแผน 4 ปี (ปี 2547 — 2551) เพื่อเป็นรากฐานของการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่มมือในลักษณะหุ้นส่วนที่ครอบคลุมความร่วมมือในทุกมิติสาขา ทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการทหาร ซึ่งมีโครงการและกิจกรรมความร่วมมือ ที่ดำเนินการแล้วอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 1 อาทิ การจัดทำ Roadmap on Economic Partnership ระหว่าง พณ. ของไทยกับกระทรวงเศรษฐกิจของฝรั่งเศส โครงการแลกเปลี่ยนข้าราชการ และการอบรมด้านล่ามภาษาฝรั่งเศส โดยล่ามของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส โครงการจัดงานเทศกาลทางวัฒนธรรมในประเทศไทยและฝรั่งเศส การจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การฝึกสอนการบินพลเรือน ความร่วมมือด้านการออกแบบและแฟชั่น การฝึกร่วมของทหารเรือ โครงการวิจัยร่วมในการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและด้านนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น

1.1.2 แผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 2 เป็นแผนความร่วมมือในกรอบกว้างระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ มีระยะ 5 ปี คือ ระหว่างปี 2553 — 2557 โดยจัดทำเป็น 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส โดยแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 2 แบ่งออกเป็น 5 หมวด ดังนี้

(1) การกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองและการหารือทวิภาคี โดยผ่านการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้แทนของทั้งสองประเทศ และการประสานงานกันในเวทีระหว่างประเทศในประเด็นที่สำคัญ อาทิ เรื่องสิทธิมนุษยชน พลังงาน การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนกระชับการหารือในเรื่องยุทธศาสตร์ทวิภาคี ทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

(2) การกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ โดยให้มีการจัดทำข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนเสริมสร้างเครือข่ายและความเชื่อมโยงทางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของทั้งสองประเทศ

(3) การปรับปรุงความร่วมมือทวิภาคีในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ ด้านวัฒนธรรมและการศึกษา ด้านวิชาการ ด้านพลังงาน และด้านการตรวจคนเข้าเมือง

(4) การกระตุ้นความร่วมมือไตรภาคีเพื่อการพัฒนาและการคุ้มรองสินค้าและบริการสาธารณะของโลก โดยผ่านความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ได้แก่ สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

(5) การกระชับความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศ โดยผ่านความร่วมมือระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ

1.1.3 กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่วรรคแรกของร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 2 ระบุว่า แผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 2 จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ดังนั้น แผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 2 จึงไม่ใช่สนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 6—7/2551 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 เรื่อง คำแถลงการณ์ร่วมไทย — กัมพูชา ที่ระบุว่า “หนังสือสัญญาหมายถึง ความตกลงระหว่างประเทศทุกประเภทที่จัดทำขึ้นระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศไม่ว่าจะถูกบันทึกไว้ในเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่เกี่ยวพันกัน และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” อย่างไรก็ดี โดยที่ร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 2 เกี่ยวข้องกับส่วนราชการหลายหน่วยงาน จึงควรนำเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในแง่นโยบายก่อนลงนาม

1.2 ข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจฯ

1.2.1 ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจไทย — ฝรั่งเศส เมื่อปี 2549 มีมติเห็นชอบให้สองฝ่ายจัดทำ Roadmap on Economic Partnership (ปี 2549 — 2551) ระหว่าง พณ. ของไทยกับกระทรวงเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ซึ่งครอบคลุมด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ตลอดจนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และเป็นข้อบทหนึ่งภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 1 ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2547

1.2.2 Roadmap on Economic Partnership ได้หมดอายุพร้อมแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 1 เมื่อปี 2551 ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะขยายอายุแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 1 ต่อไปอีก 5 ปี และได้บรรลุการจัดทำร่างข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจฯ ฉบับใหม่ และเห็นพ้องให้มีการปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “ข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศส” (High Level Economic Dialogue between France and Thailand : HLED) ปี 2553 — 2557

1.2.3 ข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจฯ เป็นกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี มีระยะ 5 ปี คือ ระหว่างปี 2553 — 2557 โดยจัดทำเป็น 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

1.2.4 ข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจฯ นี้ จะเน้นการหารือและการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกันเป็นสำคัญ เพื่อมุ่งแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่อยู่ในความสนใจของไทยและฝรั่งเศส

1.2.5 โดยที่ไม่มีข้อความใดในร่างข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจฯ ที่แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายประสงค์จะให้ร่างข้อตกลงการหารือฯ อยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจฯ จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยน่าจะเป็นเพียงเอกสารที่ยืนยันความพร้อมและเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่จะดำเนินความร่วมมือในการหารือกันผ่านกลไกการเจรจาที่ตั้งขึ้นภายใต้กรอบร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 2 ด้วยเหตุผลดังกล่าว พณ. จึงสามารถลงนามร่างข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจฯ ได้โดยไม่จำเป็นต้องออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ให้แก่ผู้ลงนาม อย่างไรก็ดี ควรที่จะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในแง่นโยบายก่อนการลงนาม

2. กต. และ พณ. ได้ให้หน่วยงานต่าง ๆ ของไทยที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสภาหอการค้าแห่งประทเทศไทย ) พิจารณาร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 2 และร่างข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจฯ ด้วยแล้ว ซึ่งทุกหน่วยงานไม่มีข้อขัดข้อง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ