การดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 14:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ และผลการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และให้แจ้งสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

ข้อเท็จจริง

1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญ นิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม 2552 ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีข้อสังเกตดังนี้

1.1 ข้อสังเกตเกี่ยวกับคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (ร่างมาตรา 9)

กรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านสหกรณ์ ด้านการบริหารจัดการสหกรณ์ ด้านกฎหมายสหกรณ์ ด้านวิชาการสหกรณ์ และด้านกลุ่มเกษตรกร เท่านั้น

1.2 ข้อสังเกตเกี่ยวกับอำนาจกระทำการของสหกรณ์ในการรับฝากเงิน (ร่างมาตรา 46 (5))

ควรกำหนดให้สหกรณ์สามารถรับฝากเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งมีสมาชิกเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากโดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว ควรมีสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝาก

1.3 ข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดสรรกำไรสุทธิของสหกรณ์เป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (ร่างมาตรา 60 วรรคหนึ่ง)

ควรกำหนดให้สหกรณ์จัดสรรกำไรสุทธิเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงควรเป็นอัตราก้าวหน้าตามลำดับชั้นของกำไรสุทธิ และสหกรณ์ต้องนำส่งค่าบำรุงให้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประชุมใหญ่อนุมัติ

1.4 ข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณสมบัติของกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (ร่างมาตรา 115)

ควรมีบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติของกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่ง ประเทศไทยให้สอดคล้องกับลักษณะต้องห้ามของกรรมการหรือผู้จัดการตามมาตรา 52 และสอดคล้องกับการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 115

1.5 ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542

ในอนาคตหากมีการขอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 คณะกรรมาธิการเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

(1) ควรจัดตั้งกองทุนพัฒนากลุ่มเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเกิดความเข้มแข็งและสามารถพัฒนาให้เป็นสหกรณ์การเกษตรต่อไป

(2) ควรกำหนดให้สหกรณ์สามารถรับผู้ไม่บรรลุนิติภาวะที่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองหรือผู้ใช้อำนาจปกครอง และนิติบุคคลเป็นสมาชิกสมทบได้

(3) ควรให้ชุมนุมสหกรณ์สามารถดำเนินการจัดหรือให้สวัสดิการหรือการสงเคราะห์ แก่สมาชิกสหกรณ์และครอบครัว

(4) ควรยกเลิกการห้ามกรรมการดำเนินการสหกรณ์ดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกัน เนื่องจากต้องการให้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญสามารถเป็นกรรมการเพื่อดำเนินการพัฒนาสหกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง

(5) ควรกำหนดห้ามมิให้บุคคลล้มละลายเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์หรือผู้จัดการ สหกรณ์ด้วย

2. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แจ้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับข้อสังเกตตามข้อ 1. ไปพิจารณาดำเนินการ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551

3. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรตามข้อ 1. แล้ว เห็นว่าในระหว่างการพิจารณาดำเนินการตามข้อสังเกตฯ นั้น ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎร และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ยืนยันมติของรัฐสภาและได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไปแล้ว ดังนั้น จึงเป็นการไม่สมควรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะพิจารณาดำเนินการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในขณะนี้ อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ ส่งข้อสังเกตดังกล่าวให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้บังคับกฎหมายทราบ และใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการ หากจะได้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสหกรณ์ฯ ในภายหน้า

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ