เรื่อง การพิจารณาทบทวนโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลาสูงสุด 15 ตัน/เพลา จำนวน 7 คัน
และการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลาสูงสุด 20 ตัน/เพลา จำนวน 13 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้
1. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าน้ำหนักกดเพลาสูงสุด 15 ตัน/เพลา จำนวน 7 คัน วงเงิน 757.680 ล้านบาท พร้อมอะไหล่วงเงิน 75.768 ล้านบาท วงเงินรวม 833.448 ล้านบาท โดยเปลี่ยนวิธีการจัดหาจากวิธีแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีมูลค่าเท่ากัน (Barter Trade) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นการจัดหาด้วยวิธีปกติ โดย รฟท. จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายจากเงินกู้และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกัน เงินกู้
2. อนุมัติให้ รฟท. จัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าน้ำหนักกดเพลาสูงสุด 20 ตัน/เพลา จำนวน 13 คัน ในราคาคันละ 165 ล้านบาท วงเงินรวม 2,145 ล้านบาท โดย รฟท. รับภาระค่าใช้จ่ายจากเงินกู้และให้ กค.เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงคมนาคม (คค.) รายงานว่า รฟท.ขอทบทวนวิธีการจัดหารถจักรตามโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าน้ำหนักกดเพลาสูงสุด 15 ตัน/เพลา จำนวน 7 คัน และเร่งรัดดำเนินโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าน้ำหนักกดเพลาสูงสุด 20 ตัน/เพลา จำนวน 13 คัน ซึ่งมีสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การทบทวนโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าน้ำหนักกดเพลาสูงสุด 15 ตัน/เพลา จำนวน 7 คัน
1.1 ผลการดำเนินโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี
(1) รฟท.ได้ดำเนินการจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้ำหนักกดเพลาสูงสุด 15 ตัน/เพลา จำนวน 7 ตัน ด้วยวิธีแลกเปลี่ยนสินค้ากับผู้จำหน่ายจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยบริษัท China Northern Locomotive & Rolling Stock Industry (Group) Corporation : CNR ซึ่งเป็น State Owned Enterprise เสนอขายด้วยวิธี Counter Trade 100 เปอร์เซ็นต์ ราคา CIF แหลมฉบัง เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 ราคาคันละ 2,180,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาได้มีการเจรจาเบื้องต้นจึงเสนอขายราคาคันละ 2,100,000 ดอลลาร์สหรัฐ รฟท. จึงเห็นควรรับข้อเสนอดังกล่าวพร้อมทั้งได้ประสานกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และคณะกรรมการการค้าแบบแลกเปลี่ยนเพื่อดำเนินการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Unterstanding : MOU) ซึ่งผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) และพร้อมลงนามกับบริษัทก่อนทำสัญญาซื้อขาย แต่ภายหลังบริษัท CNR ปฏิเสธที่จะลงนามใน MOU โดยเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2547 ผู้แทนบริษัท CNR แจ้งว่าเนื่องจากระหว่างการดำเนินการมีปัญหาการจัดซื้อลำไยอบแห้ง และในปีดังกล่าวลำไยอบแห้งมีราคาสูงกว่าปีก่อนมาก รวมทั้งรายละเอียดทางเทคนิคของรถจักรที่ รฟท. ขอให้ติดตั้ง Air Compressor เพิ่มขึ้นจาก 1 ตัว เป็น 2 ตัว ทำให้ผู้ผลิตมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันโลกได้สูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง บริษัท CNR จึงขอปรับราคารถจักรเพิ่มเป็นคันละ 2,600,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ รฟท. ได้เจรจาต่อรองขอปรับราคาเหลือคันละ 2,400,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมภาษีและค่าใช้จ่ายในการนำเข้า) และขออนุมัติคณะรัฐมนตรีปรับเพิ่มวงเงินในการดำเนินการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 เห็นชอบให้ปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณโครงการเพิ่มเติมด้วยแล้ว
(2) คณะกรรมการเจรจาตกลงราคาและร่างสัญญาซื้อขายรถจักรดีเซลไฟฟ้าจำนวน 7 คัน ได้ดำเนินการจัดทำร่าง MOU โดยผ่านการตรวจสอบจาก อส.แล้ว รวมทั้งได้จัดทำร่างสัญญาซื้อขายรถจักรฯ และประชุมหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทน รฟท. บริษัท CNR พณ. กษ. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่ง ประเทศไทย (Export — Import Bank of Thailand : EXIM Bank) และผู้รับซื้อข้าวสารซึ่งในการเจรจาดังกล่าวยังไม่สามารถตกลงกันได้
(3) ส่วนการดำเนินการจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า 112 คัน วงเงิน 273.46 ล้านบาท รฟท. ได้ดำเนินการจัดซื้อโดยการประกวดราคาและได้รับมอบรถมาใช้งานแล้วในวงเงิน 214.754 ล้านบาท
1.2 ปัญหาและอุปสรรค : การดำเนินงานภายใต้ข้อกำหนดการซื้อขายด้วยวิธีแลกเปลี่ยนสินค้า มูลค่าเท่ากัน (Barter Trade) ลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) มีปัญหาในการดำเนินงานอย่างมาก เนื่องจากมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ปัญหาข้อกฎหมายความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเกษตร การเปลี่ยนแปลงชนิดของสินค้าที่แลกเปลี่ยน รวมทั้งอำนาจการตัดสินใจของผู้เจรจา จึงทำให้การจัดทำสัญญาซื้อขายไม่มีความคืบหน้า นอกจากนี้การแลกเปลี่ยนสินค้าในมูลค่าเท่ากัน (Barter Trade) โดยเฉพาะการจัดหารถจักรด้วยการแลกเปลี่ยนข้าวสารกับไทย ฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนจะกำหนดราคารถจักรตามความพอใจ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของราคาข้าวสารที่อาจสูงขึ้นเนื่องจากกำหนดราคาตามตลาดโลกปัจจุบัน ดังนั้น จึงทำให้ราคารถจักรสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็นประกอบกับผู้ขายรถจักรไม่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องการขายข้าวสาร จึงต้องแต่งตั้งตัวแทนจากประเทศไทยเป็นผู้รับซื้อข้าวสารแทน และในการเจรจาต้องมีตัวแทนจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งผลการเจรจายังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงทำให้การดำเนินการเกิดความล่าช้าส่งผลกระทบต่อกิจการเดินรถในการหารายได้ของ รฟท. นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ยกเลิกการค้าแบบแลกเปลี่ยน โดยยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการค้าแบบแลกเปลี่ยน พ.ศ. 2549 แล้ว ดังนั้น รฟท.จึงเห็นว่าการจัดหาโดยวิธีปกติจะเป็นวิธีการที่สามารถควบคุมเวลาและราคาได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพกว่าการแลกเปลี่ยนสินค้า จึงควรเปลี่ยนวิธีการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าดังกล่าวเป็นวิธีปกติ
2. การเร่งรัดดำเนินโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลาสูงสุด 20 ตัน/เพลา จำนวน 13 คัน : จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 ที่ให้ รฟท. ชะลอการจัดหารถจักรดีเซลดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากไม่สอดคล้องกับขีดความสามารถในการรองรับน้ำหนักกดเพลาของทางรถไฟในปัจจุบันนั้น ปัจจุบัน รฟท.ประสบปัญหาการขาดแคลนรถจักรใช้งานเพราะรถจักรส่วนใหญ่มีอายุใช้งานนานเฉลี่ยประมาณ 30 ปี และมีความพร้อมในการใช้งาน (Availability) ต่ำ ทำให้ไม่สามารถจัดเดินขบวนรถตามความต้องการของผู้ใช้บริการและไม่สามารถสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งระบบรางตามแผนยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ได้อย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการฟื้นฟูฐานะทางการเงินของ รฟท.ซึ่ง รฟท. ได้ปรับแผนการดำเนินการจัดหารถจักรให้สอดรับกับโครงการปรับปรุงทางรถไฟระยะที่ 5 และ 6 เพื่อให้รางรถไฟสามารถรับน้ำหนักกดเพลาได้สูงขึ้นทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2555 ซึ่งจะสอดคล้องกับระยะเวลาของแผนการจัดหารถจักรดังกล่าวซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2555 ด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--