การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 4

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 15:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 4 ที่มีวงเงินลดลง 101,689.53 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 1,748,662.70 ล้านบาท เหลือ 1,646,973.17 ล้านบาท

2. อนุมัติการกู้เงิน การค้ำประกัน และการให้กู้ต่อของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ปรับปรุงครั้งที่ 4

3. อนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ปรับปรุงครั้งที่ 4 แต่หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ และมีปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน (1. นายปรีชา จรุงกิจอนันต์ 2. นายกำชัย จงจักรพันธ์ 3. นายอนุสรณ์ ธรรมใจ) เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นกรรมการและเลขานุการ ได้พิจารณาเห็นว่ารัฐบาลและรัฐวิสาหกิจมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวงเงินการบริหารหนี้เดิมและ กู้เงินใหม่จากแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 เดิมและได้พิจารณาเหตุผลความจำเป็นประกอบด้วยแล้ว จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553 เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 4 โดยเป็นการปรับปรุงแผนงานย่อย จำนวน 4 แผน ได้แก่ 1) แผนการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐบาล 2) แผนการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ 3) แผนการก่อหนี้จากต่างประเทศ และ 4) แผนการบริหารหนี้ต่างประเทศ ดังนี้

1. แผนการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐบาล

             วงเงินเดิม :           673,000   ล้านบาท
             ปรับเพิ่ม :               5,600   ล้านบาท

วงเงินหลังการปรับปรุง : 678,600 ล้านบาท

กระทรวงการคลังปรับเพิ่มวงเงินการให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ วงเงิน 5,600 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ที่อนุมัติแนวทางการระดมทุนในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธา โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาระดมทุนโดยการกู้เงินบาทจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศและนำมาให้ รฟม. กู้ต่อ ซึ่งปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างการประกวดราคาคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธา

2. แผนการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ

             วงเงินเดิม :            367,602.38    ล้านบาท
             ปรับลดสุทธิ :             20,307.62    ล้านบาท

วงเงินหลังการปรับปรุง : 347,294.76 ล้านบาท

การปรับลดวงเงินดำเนินการสุทธิ จำนวน 20,307.62 ล้านบาท ประกอบด้วย การปรับเพิ่มวงเงินการกู้ใหม่สุทธิ 1,292.38 ล้านบาท และการปรับลดวงเงินการบริหารและจัดการหนี้เดิมสุทธิ 21,600.00 ล้านบาท โดยเป็นการปรับปรุงวงเงินของรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของโครงการและสถานะทางการเงินของแต่ละหน่วยงาน

3. แผนการก่อหนี้จากต่างประเทศ

             วงเงินเดิม :            120,357.86    ล้านบาท   (3,438.80 MUSD)
             ปรับลด :                20,414.18    ล้านบาท   (583.26 MUSD)
             วงเงินหลังการปรับปรุง :    99,943.68    ล้านบาท   (2,855.53 MUSD)

รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ปรับลดวงเงินดำเนินการ จำนวน 20,414.18 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

3.1 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ปรับลดวงเงินกู้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ จำนวน 13,412.18 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 383.21 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 19,735 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 563.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือ 6,322.82 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 180.65 ล้านเหรียญสหรัฐ (16,369 ล้านเยน) เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศการให้เงินกู้อย่างเป็นทางการของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยปัจจุบันรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างหนังสือสัญญาแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น ร่างสัญญาค้ำประกันเงินกู้ และเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553

3.2 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ปรับลดวงเงินกู้โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยุคที่ 3 จำนวน 7,002 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 200.06 ล้านเหรียญสหรัฐ จากวงเงิน 23,200 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 662.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือ 16,198 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 462.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลงทุนโครงการซึ่งมีการปรับปรุงใหม่ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ให้นโยบายไว้

อนึ่ง กระทรวงการคลังขอเรียนเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าของการให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการบรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2552 โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2552 กระทรวงการคลังได้ลงนามสัญญาเงินกู้กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) แล้ว และมีกำหนดจะดำเนินการทำสัญญาให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยภายในปีงบประมาณ 2553 วงเงิน 63,018 ล้านเยน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553

4. แผนการบริหารหนี้ต่างประเทศ

             วงเงินเดิม :             98,531.44    ล้านบาท
             ปรับลด :                66,567.73    ล้านบาท
             วงเงินหลังการปรับปรุง :    31,963.71    ล้านบาท

การปรับลดวงเงินดำเนินการ จำนวน 66,567.73 ล้านบาท ประกอบด้วย การปรับลดวงเงินการบริหารหนี้ของรัฐบาล 2,254.20 ล้านบาท และการปรับลดวงเงินการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจ 64,313.53 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

4.1 การบริหารหนี้ของรัฐบาล

กระทรวงการคลังปรับแผนการทำ Swap Arrangement ออก 8 สัญญา วงเงินรวม 2,254.20 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 5,932.10 ล้านเยน เนื่องจากสัญญาเงินกู้ดังกล่าวมีอายุคงเหลือ 5.5-7.0 ปี และมีต้นทุนอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินเยนร้อยละ 2.2-2.3 ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตลาดของพันธบัตรสกุลเงินเยนที่มีอายุเท่ากัน (คิดจากอายุเงินกู้คงเหลือเฉลี่ย) จึงคาดว่าหากทำ Swap Arrangement ตามแผนเดิมแล้วจะทำให้เงินกู้ดังกล่าวมีอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินบาทที่สูง ดังนั้น ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าววิธีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม คือ การ Refinance หรือการชำระคืนหนี้ก่อนกำหนด (Prepayment) ซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดดอกเบี้ยได้ อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเจรจากับแหล่งเงินกู้เพื่อหาระยะเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการดังกล่าว

4.2 การบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจ

1) การประปานครหลวง ปรับแผนการทำ Swap Arrangement ออก 1 สัญญา วงเงิน 1,824.00 ล้านบาท เนื่องจากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินการ

2) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ปรับแผนการทำ Swap Arrangement ออก 5 สัญญา วงเงินรวม 59,327.91 ล้านบาท เนื่องจากไม่ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณในการดำเนินการ

3) การรถไฟแห่งประเทศไทย ปรับแผนการทำ Swap Arrangement และการ Refinance ออกรวม 10 สัญญา วงเงินรวม 3,161.62 ล้านบาท เนื่องจากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินการหลังการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 4 จะทำให้ภาพรวมของแผนฯ มีวงเงินลดลง 101,689.53 ล้านบาท จากเดิม 1,748,662.70 ล้านบาท เหลือ 1,646,973.17 ล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินใหม่ 901,230.80 ล้านบาท และการบริหารหนี้ 745,742.37 ล้านบาท ซึ่งสรุปตามแผนงานย่อยได้ ดังนี้

                                                                                    หน่วย : ล้านบาท
             แผน                                   วงเงิน              วงเงินหลัง       การเปลี่ยนแปลง
                                                  แผนเดิม          ปรับปรุงครั้งที่ 4
1. การบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐบาล       673,000.00            678,600.00           5,600.00
1.1 การกู้เงินกู้ใหม่                               350,000.00            355,600.00           5,600.00
1.2 การบริหารหนี้                                323,000.00            323,000.00                  -
2.  การบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหาย     139,171.02            139,171.02                  -
ให้ FIDF
3. การบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูและ              350,000.00            350,000.00                  -
เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
4. การบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของ            367,602.38            347,294.76         -20,307.62
รัฐวิสาหกิจ
4.1 การกู้เงินใหม่                                124,394.74            125,687.12           1,292.38
(1) เงินกู้ในประเทศทดแทนเงินกู้จากต่างประเทศ           4,692.66              3,567.66          -1,125.00
(2) เงินกู้เงินบาทสมทบโครงการเงินกู้จาก                6,932.39              2,757.39          -4,175.00
ต่างประเทศ
(3) เงินกู้เพื่อลงทุน                                33,892.79             20,120.36         -13,772.43
(4) เงินกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่นๆ                78,876.90             99,241.71          20,364.81
4.2 การบริหารและจัดการหนี้                        243,207.64            221,607.64         -21,600.00
5. การก่อหนี้จากต่างประเทศ                        120,357.86             99,943.68         -20,414.18
6. การบริหารหนี้ต่างประเทศ                         98,531.44             31,963.71         -66,567.73
6.1 รัฐบาล                                      29,995.16             27,740.96          -2,254.20
6.2 รัฐวิสาหกิจ                                   68,536.28              4,222.75         -64,313.53
รวม                                         1,748,662.70          1,646,973.17        -101,689.53

นอกจากการปรับปรุงวงเงินในแผนที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการปรับปรุงแผนของรัฐวิสาหกิจที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้มีมติให้แยกกิจกรรมดังกล่าวออกมา โดยไม่ต้องขออนุมัติภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ แต่ยังคงต้องดำเนินการตามขั้นตอนการกู้เงินอื่น และรายงานให้คณะกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ได้แก่

1. การกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด

1.1 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ปรับเพิ่มวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องสุทธิ 10,040 ล้านบาท โดยเป็นการปรับลดวงเงินกู้ที่เดิมคาดว่าจะใช้ในการรองรับผลกระทบจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ 8,960 ล้านบาท และปรับเพิ่มวงเงินในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ ตามแผนปรับโครงสร้างทางการเงิน ปี 2553-2557 โดยการออกหุ้นกู้ 11,000 ล้านบาท และกู้จากสถาบันการเงิน 8,000 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการบริษัทฯ ได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553

1.2 บริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) ปรับแผนการทำ Swap Arrangement ออก 4 สัญญา วงเงินรวม 2,936.12 ล้านบาท เนื่องจากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินการ

2. การกู้เงินระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป Credit Line

บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ปรับลดวงเงินกู้ จำนวน 800 ล้านบาท จากเดิม 2,000 ล้านบาท เหลือ 1,200 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้เสริมสภาพคล่องหากเกิดกรณีที่หน่วยงานราชการจ่ายชำระค่าก่อสร้างในส่วนที่มีการขยายกรอบวงเงินลงทุนโครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานครฯ ให้กับ ธพส. ได้ไม่ทันตามกำหนด

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ

1. พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

1.1 การจัดทำแผนและการปรับปรุงแผน : มาตรา 35 (2) กำหนดให้การพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนระหว่างปีหากไม่เกินวงเงินที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะครั้งนี้เป็นการปรับลดวงเงินในแผนฯ จำนวน 101,689.53 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 1,748,662.70 ล้านบาท เหลือ 1,646,973.17 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแผนฯ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553 แล้ว คณะกรรมการฯ จึงขอรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบตามนัยที่กฎหมายกำหนด

1.2 กรอบวงเงินการค้ำประกัน : มาตรา 25 และมาตรา 28 กำหนดให้ในปีงบประมาณหนึ่งกระทรวงการคลังจะให้กู้ต่อเป็นเงินบาทและค้ำประกันได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

ในปีงบประมาณ 2553 มีกรอบวงเงินดังกล่าวเท่ากับ 340,000 ล้านบาท (งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 เท่ากับ 1,700,000 ล้านบาท) โดยหากกระทรวงการคลังจะค้ำประกันและให้กู้ต่อแก่รัฐวิสาหกิจตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ปรับปรุงครั้งที่ 4 ตามที่รัฐวิสาหกิจเสนอขอจำนวน 288,308.30 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.96 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว ก็จะยังไม่เกินกว่ากรอบวงเงินที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยจะเหลือวงเงินตามกฎหมายที่สามารถดำเนินการค้ำประกันและให้กู้ต่อได้อีกประมาณ 51,691.70 ล้านบาท

1.3 กรอบการกู้เงินจากต่างประเทศ : มาตรา 22 และมาตรา 25 กำหนดให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและเพื่อให้กู้ต่อเป็นเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ในปีงบประมาณ 2553 มีกรอบวงเงินดังกล่าวเท่ากับ 170,000 ล้านบาท (งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 เท่ากับ 1,700,000 ล้านบาท) ซึ่งตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ปรับปรุงครั้งที่ 4 รัฐบาลมีวงเงินกู้ต่างประเทศเพื่อให้กู้ต่อและเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 71,277.20 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.12 ของงบประมาณรายจ่าย ประจำปี ซึ่งยังไม่เกินกว่ากรอบวงเงินที่กฎหมายกำหนดไว้

2. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549

ความสามารถในการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินภาครัฐ : ข้อ 8 (5) กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณว่า รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินภาครัฐที่จะก่อหนี้ต้องมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงหรือมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ได้ โดยมีสัดส่วนความสามารถในการทำรายได้เทียบกับภาระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) ของกิจการนับแต่มีการก่อหนี้ ในอัตราไม่ต่ำกว่าหนึ่งจุดห้าเท่า และในกรณีที่หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินภาครัฐ มีความจำเป็นต้องก่อหนี้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ได้ ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเสนอคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะพิจารณาเป็นรายกรณี

คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 เห็นชอบให้หน่วยงานที่ได้รับการบรรจุในแผนฯ สามารถก่อหนี้ได้ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 แล้ว และในการปรับแผนในครั้งนี้ไม่มีรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะดังที่กล่าวเพิ่มเติม

3. ประกาศคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เรื่อง หลักเกณฑ์และกรอบวงเงินการค้ำประกันและการให้กู้ต่อแก่รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินภาครัฐ

กรอบวงเงินค้ำประกันและให้กู้ต่อ : ข้อ 2 กำหนดให้ “กระทรวงการคลังจะค้ำประกันหรือให้กู้ต่อแก่รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินภาครัฐรายใดได้ไม่เกินจำนวนเงินซึ่งรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจหรือหนี้ของสถาบันการเงินภาครัฐแล้วแต่กรณี ในขณะที่ก่อหนี้ผูกพัน โดยกรณีรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ไม่เกิน 3 เท่าของเงินกองทุนของรัฐวิสาหกิจนั้น และกรณีสถาบันการเงินภาครัฐ ไม่เกิน 6 เท่า ของเงินกองทุนของสถาบันการเงินภาครัฐนั้น โดยหากกระทรวงการคลังจะค้ำประกันหรือให้กู้ต่อเกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ ให้กระทรวงการคลังขออนุมัติจากคณะกรรมการ นโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเป็นรายกรณี โดยแสดงเหตุผลและความจำเป็นประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการด้วย (ประกาศคณะกรรมการฯ ข้อ 3)

ในการปรับแผนครั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขอปรับเพิ่มวงเงินการค้ำประกัน 1,569 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ธ.ก.ส. มีเงินกองทุน จำนวน 65,742 ล้านบาท ดังนั้น กระทรวงการคลังสามารถค้ำประกันหรือให้กู้ต่อซึ่งรวมหนี้ของ ธ.ก.ส. ได้ไม่เกิน 394,452 ล้านบาท (65,742 X 6) ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2553 ยอดหนี้ของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ 98,398.75 ล้านบาท จึงมีวงเงินที่สามารถค้ำประกันได้อีก 296,053.26 ล้านบาท โดยหากกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ของ ธ.ก.ส. เพิ่มอีกจำนวน 1,569 ล้านบาท จะคิดเป็นวงเงินรวมค้ำประกันทั้งสิ้น 99,967.75 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เกินกว่ากรอบวงเงินที่กำหนดไว้

4. กรอบความยั่งยืนทางการคลัง

เมื่อพิจารณาระดับของหนี้สาธารณะต่อ GDP หากมีการดำเนินการตามแผนฯ ทั้งหมด ณ สิ้นปีงบประมาณ 2552 รวมกับการกู้เงินใหม่ที่จะเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2553 บวกด้วยหนี้ที่ผูกพันแล้วและมีการเบิกจ่ายระหว่างปี หักด้วยหนี้ที่ครบกำหนดชำระ ทั้งนี้ หากในปี 2553 มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่ากับร้อยละ 3.0 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.5 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2553 คาดว่าจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับร้อยละ 48.49 และมีภาระหนี้ต่องบประมาณ อยู่ในระดับร้อยละ 12.61 ซึ่งยังไม่เกินกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้ระดับของหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60 และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกินร้อยละ 15

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ