คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์ไฟป่าและการบุกรุกพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้
1. ข้อมูลทั่วไปของป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ป่าพรุควนเคร็งเป็นป่าพรุในลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมเป็นพื้นที่ซึ่งเคยเป็นทะเลมาก่อนแต่ต่อมาได้เกิดหาดสันดอน (Barrier beach) ปิดกั้นจึงกลายเป็นพื้นที่ลากูน (Lagoon) และมีตะกอนจากภูเขาด้านทิศตะวันตกของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังไหลลงมาทับถมจึงกลายเป็นพื้นที่ลากูน (Filled lagoon) เดิมป่าพรุควนเคร็งเป็นพื้นที่ ลุ่มน้ำผืนใหญ่มีระบบนิเวศน้ำผิวดินที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด และเชื่อมต่อกับทะเลน้อยจังหวัดพัทลุง ซึ่งเชื่อมโยงกับบริเวณทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างหลากหลาย จนเมื่อปี 2505 ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นแฮเรียดพัดผ่านภาคใต้เป็นเหตุให้ป่าพรุดั้งเดิมในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งโค่นล้มเสียหายจำนวนมาก ประกอบกับเมื่อมีการเจริญของชุมชนและจำนวนประชากรได้เพิ่มมากขึ้นความต้องการพื้นที่ทำกินมีมากขึ้น เป็นเหตุให้พื้นที่ป่าพรุควนเคร็งถูกทำลายและบุกรุกจับจองถือครอง ทำให้ป่าพรุควนเคร็งถูกแบ่งออกเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย จนปี 2539 ได้ประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าพรุควนเคร็งซึ่งเคยเป็นป่าพรุผืนใหญ่จึงถูกแบ่งแยกเป็นป่าสงวนแห่งชาติ 4 ป่า และต่อมาเมื่อรัฐบาลมีนโยบายมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ถูกราษฎรถือครองให้แก่ประชาชนเพื่อนำไปปฏิรูปที่ดิน ป่าพรุ ควนเคร็งจึงถูกแบ่งแยกออกไปอีก ปัจจุบันจึงเหลือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรที่กันออกจากเขตที่ได้ปฏิรูปที่ดินแล้วและไม่มีภาระผูกพันใดรวมทั้งที่ได้กำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ (Zone C) แล้วจำนวน 4 ป่า ได้แก่ ป่าคลองทราย-ป่ากอง ป่าหมายเลข 102 แปลงที่ 1 ป่าคลองค็อง และป่าท่าช้างข้าม ซึ่งได้จำแนกได้ตามกฎหมายเป็นป่าไม้ของชาติตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2504 มีเนื้อที่ทั้งหมด 354,339 ไร่ ป่าไม้ถาวรของชาติตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2516 มีเนื้อที่ทั้งหมด 178,275 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง มีเนื้อที่ทั้งหมด 165,825-2-0 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติรับคืนจาก สปก. เนื้อที่ 109,656-1-28 ไร่ ป่าพรุควนเคร็ง อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วย อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอชะอวด อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอร่อนพิบูลย์ และอำเภอหัวไทรพื้นที่ดังกล่าวได้มีประกาศเมื่อ พ.ศ. 2518 ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอชะอวดและอำเภอหัวไทร เนื้อที่ 150,000 ไร่ และเตรียมการที่จะประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ ในพื้นที่อำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เนื้อที่ 64,494 ไร่
2. สภาพปัญหาการเกิดไฟป่า
สถานการณ์การเกิดไฟป่าบริเวณป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เริ่มมีไฟไหม้ป่าตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2553 จนถึงปัจจุบัน สาเหตุจากปริมาณน้ำในป่าพรุลดลงมากเนื่องจากภัยแล้ง ประกอบกับการบุกรุกแผ้วถางและเผาป่าเสม็ด ปัจจุบันไฟไหม้ทำความเสียหายแก่ป่าพรุไปแล้ว 17,053 ไร่ อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ ท้องที่อำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช
3. สภาพปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าพรุ
สถานการณ์การบุกรุกพื้นที่ป่าพรุ พบว่ามีการบุกรุกแผ้วถางป่าต้นเสม็ดขาว เพื่อปรับสภาพพื้นที่และขุดร่องปลูกปาล์มน้ำมันเป็นบริเวณกว้าง โดยปัจจุบันพื้นที่ป่าพรุได้ถูกบุกรุกและถูกดำเนินคดีไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ และมีพื้นที่บุกรุก อีกจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบเนื่องจากมีการอ้างเอกสารแสดงสิทธิการครอบครองที่ดิน เช่น สค.1 สปก.4-01 นส.3 นส.3 ก และโฉนดที่ดิน ทั้งนี้จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ในพื้นที่ป่าพรุมีการอ้าง สค.1 ถึง 800 ราย และ สปก.4-01 อีกเป็นจำนวนมาก โดยทางเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แจ้งว่าปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินงานของ สปก. อยู่ 9,543 ไร่ และจัดให้ราษฎรไปแล้ว 7,209 ไร่
4. แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าและการบุกรุกพื้นที่ป่าพรุ
4.1 หยุดยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าพรุและดับไฟป่า โดยให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สนธิกำลังประสานหน่วยงานกรมป่าไม้ ฝ่ายปกครอง และกองทัพภาคที่ 4 จัดชุดลาดตระเวนป้องกันและปราบปรามให้ครอบคลุมพื้นที่ เพื่อป้องกันการบุกรุกและการลักลอบจุดไฟเผาป่า หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการโดยเฉียบขาด และให้ประสานหน่วยงานภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดชุดปั๊มน้ำและสายส่งน้ำให้กระจายทั่วพื้นที่ป่าพรุโดยรอบ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ทิ้งน้ำ เพื่อดับไฟป่าลงให้ได้
4.2 มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบแก้ไขปัญหาไฟป่าและการบุกรุกพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง โดยให้ดำเนินการตรวจสอบการถือครองพื้นที่ป่าพรุของราษฎรที่มีการอ้าง สค.1 สปก.4-01 นส.3 นส.3 ก และโฉนดที่ดิน ว่าเป็นเอกสารโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากพิสูจน์ด้วยภาพถ่ายทางอากาศแล้วพบว่า ไม่มีการทำประโยชน์มาก่อนให้ยกเลิกหรือเพิกถอนเสียทั้งหมด ในกรณีพื้นที่ที่มีการบุกรุกปลูกต้นปาล์มน้ำมัน ยางพารา ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายให้ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาทั้งผู้บุกรุกและผู้ว่าจ้าง พร้อมให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และพืชผลอาสินออกให้หมดและดำเนินการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนเป็นสภาพป่าพรุดังเดิม สำหรับการระวังชี้แนวเขตหรือการสอบสวนสิทธิเพื่อออกเอกสารสิทธิขอให้จังหวัดนครศรีธรรมราชส่งเรื่องให้หน่วยงานส่วนกลางตรวจสอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว
4.3 การดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง ขอให้ดำเนินการโดยเฉียบขาด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้อัยการร้องขอต่อศาลให้ริบของกลางในคดีการกระทำผิดบุกรุกพื้นที่ป่าพรุและคดีเกี่ยวกับการป่าไม้ทุกคดี โดยให้เป็นดุลยพินิจและอำนาจของศาลในการพิจารณาคืนของกลางระหว่างคดี พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรและเจ้าของของกลางในคดีทราบว่า การนำอุปกรณ์หรือเครื่องจักรเข้าไปในพื้นที่ป่าพรุ ถือว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย
4.4 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประสานกับกรมชลประทาน รื้อฟื้นโครงการพัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากเป็นแนวทางที่จะผันน้ำและปรับระดับน้ำของป่าพรุให้เป็นไปตามธรรมชาติอันจะเป็นการแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--