รายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 15:41 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ และรายงานผลการประเมินตนเองของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการคณะต่างๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่เลขาธิการ ก.พ.ร. กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) เสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการของค.ต.ป. ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2552

2. รับทราบรายงานผลการประเมินตนเองของ ค.ต.ป. คณะต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552

3. เห็นชอบกับข้อเสนอของ ค.ต.ป. เกี่ยวกับการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการที่ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอ

ทั้งนี้ให้ ค.ต.ป. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา รวมทั้งได้จัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการคณะต่างๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. รายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เป็นการสอบทานตามประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการใน 2 กรณี ดังนี้

1) การสอบทานกรณีปกติ : การตรวจราชการ การตรวจสอบภายใน การควบคุมภายในและ การบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ รายงานการเงิน

2) การสอบทานกรณีพิเศษ

ให้อยู่ในดุลยพินิจของ ค.ต.ป. ประจำกระทรวงและคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (อ.ค.ต.ป.) กลุ่มจังหวัดโดยดำเนินการ ดังนี้

(1) ค.ต.ป. ประจำกระทรวง พิจารณาสอบทานโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐบาล หรือตามภารกิจหลักของกระทรวง อย่างน้อย 1 โครงการ

(2) อ.ค.ต.ป. กลุ่มจังหวัด พิจารณาสอบทานโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐบาลอย่างน้อย 1 โครงการ

โดยคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ อาจพิจารณาเลือกสุ่มตรวจสอบทานโครงการที่มีลักษณะเป็นโครงการที่ได้มีการเริ่มดำเนินงานแล้ว หรือเป็นโครงการที่มีการดำเนินการต่อเนื่องหรือโครงการผูกพันโครงการที่ได้รับเงินงบประมาณสูงในการดำเนินงานหรือเป็นโครงการที่มีผลกระทบสูง

2. ข้อเสนอแนะของ ค.ต.ป. เพื่อให้ส่วนราชการและจังหวัดสามารถนำเครื่องมือการตรวจสอบและประเมินผลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการจึงมีข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้

1) การบริหารจัดการภาคราชการ

  • การปฏิบัติราชการโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นการขับเคลื่อนนโยบายจากระดับบนลงสู่การ
ปฏิบัติภายใต้การจัดทำเป็นแผนงาน/โครงการที่สมควรได้รับการจัดสรรงบประมาณ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่แผนงาน/โครงการเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงกัน เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ตามแผนปฏิบัติราชการของกรม กระทรวงและจังหวัดตามที่ได้วางไว้ ดังนั้น หัวหน้าส่วนราชการจึงต้องให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนงาน/โครงการพร้อมทั้งการกำหนดตัวชี้วัดที่มีความเชื่อมโยงกัน

ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม ผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักงบประมาณ

  • หัวหน้าส่วนราชการต้องมีบทบาทสำคัญในการวางแผนร่วมกันกับหน่วยงานภายในของส่วนราชการที่มีภารกิจด้านการตรวจสอบ กำกับ ติดตาม และประเมินผล เช่น สำนักตรวจราชการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กลุ่มตรวจสอบภายในและกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบติดตาม และประเมินผลของส่วนราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันสามารถดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลได้ครอบคลุมตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ในภาพรวมที่กำหนดไว้

ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม และผู้ว่าราชการจังหวัด

2) ประเด็นการตรวจสอบและประเมินผล

2.1 การตรวจราชการ

  • ให้มีการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานของผู้ตรวจราชการ เพื่อให้ระบบการตรวจราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้ครอบคลุมประเด็น ดังต่อไปนี้

(1) ปรับปรุงแนวทางการคัดเลือกแผนงาน/โครงการของกระทรวงที่จะบรรจุในแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการฯ โดยมุ่งเน้นแผนงาน/โครงการสำคัญของกระทรวง และให้มีความเชื่อมโยงกับแผนงาน/โครงการของกระทรวงอื่นๆ พร้อมทั้งมุ่งเน้นโครงการที่สำคัญสามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม

(2) ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการร่วมตรวจสอบ เพื่อการพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่

ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพร่วมกับผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงต่างๆ และผู้ตรวจราชการกรม

(3) บูรณาการปฏิบัติงานของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงให้มีการปฏิบัติงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น โดยจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการกระทรวง ภายหลังการเสร็จสิ้นการตรวจติดตามแผนงาน/โครงการในพื้นที่แต่ละรอบ เพราะด้วยมุมมองที่แตกต่างกันตามความเชี่ยวชาญของผู้ตรวจราชการจะทำให้จข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาเกิดประโยชน์กับหน่วยรับตรวจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้รายงานผลการตรวจราชการแบบบูรณาการฯ สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

2.2 การตรวจสอบภายใน

  • หัวหน้าส่วนราชการต้องกำกับดูแลการปฏิบัติงานด้านตรวจสอบภายในของ
ผู้ตรวจสอบภายใน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

(1) เข้าใจบทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายในตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายใน

(2) นำผลการตรวจสอบภายในมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการบริหารงานราชการแผ่นดิน

(3) มอบหมายงานให้ผู้ตรวจสอบภายในตรงตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ

(4) กำกับดูแลให้มีอัตรากำลังผู้ตรวจสอบภายในเป็นไปตามกรอบอัตรากำลังที่กำหนด

(5) ส่งเสริมให้ผู้ตรวจสอบภายในมีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในอย่างต่อเนื่อง

(6) สนับสนุนให้ผู้ตรวจสอบภายในมีการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) โดยมีทรัพยากรที่เหมาะสมและเพียงพอทั้งในส่วนของ Hardware, Softwary , Peopleware

ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม และผู้ว่าราชการจังหวัด

  • เพื่อให้การดำเนินการด้านการตรวจสอบภายในมีความเป็นรูปธรรม ยั่งยืน และสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 ที่เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางเสนอเรื่อง การกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบตรวจสอบภายในภาคราชการ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของหน่วยงานตรวจสอบภายในรวมทั้งกำหนดให้สายงานตรวจสอบภายในเป็นสายงานวิชาชีพ แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ดังนั้น จึงควรเร่งดำเนินการ ดังนี้

(1) ศึกษาและสร้างความก้าวหน้าในสายงานตรวจสอบภายในเพื่อยกระดับสู่ การเป็นสายงานวิชาชีพอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการโยกย้าย เปลี่ยนแปลงสายงาน และช่วยลดความสูญเสียบุคลากรในสายงานตรวจสอบภายในที่ได้ผ่านหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ตรวจสอบภายในภาครัฐ (Certified Government Internal Audit : CGIA) แล้ว ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ กรมบัญชีกลาง และสำนักงาน ก.พ.

(2) ส่งเสริมและพัฒนาขีดสมรรถนะของผู้ตรวจสอบภายใน โดยจัดทำแผนปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานด้านการตรวจสอบที่เหมาะสม ทั้งนี้ ให้มีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายในที่ผ่านการอบรมไปแล้ว เพื่อพัฒนาหลักสูตรเนื้อหาวิชาในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบการดำเนินงาน และการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการพัฒนาให้ผู้ตรวจสอบภายในสามารถตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้รับผิดชอบดำเนินการ กรมบัญชีกลาง

2.3 การควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง

  • หัวหน้าส่วนราชการต้องมีบทบาทสำคัญในการกำหนดให้มีการจัดวางระบบควบคุมภายในทั้งองค์การ ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงานตามแผนการควบคุมภายในสำหรับกิจกรรมการควบคุมที่กำหนด พร้อมทั้งให้มีการรายงานผลการดำเนินการตามแผนการควบคุมภายในต่อผู้บริหารเป็นระยะๆ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลและควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ควรสร้างความตระหนักให้บุคลากรในองค์การมีความรู้และเห็นความสคัญและจำเป็นของการควบคุมภายใน โดยสร้างบรรยากาศเพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมของการควบคุมรวมถึงการปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์ความมีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิผล และเกิดเป็นวัฒนธรรมในการปฏิบัติงานขององค์การ ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม และผู้ว่าราชการจังหวัด
  • ส่งเสริมและผลักดันให้การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 ที่เห็นชอบให้คลังจังหวัดเป็นผู้จัดทำรายงานการควบคุมภายในฯ ในภาพรวมของจังหวัด สำหรับปีต่อ ๆ ไป โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป ให้สำนักงานจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ เพื่อให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากปัจจุบันบางจังหวัดยังคงไม่มีการมอบหมายผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมภายในที่ชัดเจน ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด
  • ศึกษาและวางระบบการจัดทำรายงานในภาพรวมของการควบคุมภายในของสำนักนายกรัฐมนตรีให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถจัดวางระบบการควบคุมที่เหมาะสม และสามารถใช้เป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการสร้างความมั่นใจว่า ผลการดำเนินงานจะบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักนายกรัฐมนตรีมีลักษณะโครงสร้างองค์การและโครงสร้างการบริหารราชการที่แตกต่างจากกระทรวงโดยทั่วไปกล่าวคือ สำนักนายกรัฐมนตรีมีส่วนราชการในสังกัด 12 ส่วนราชการ เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 9 หน่วยงาน ในขณะที่อีก 3 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่อยู่ในกำกับของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้น โครงสร้างดังกล่าวจึงมีผลทำให้สำนักนายกรัฐมนตรีมีข้อจำกัดในการจัดทำรายงานฯ ในภาพรวมของกระทรวง ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ค.ต.ป. ร่วมกับ ค.ต.ป.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

2.4 การปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ

  • ติดตามประเมินผลการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ของหน่วยงานราชการที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549-2552 ด้วยการจัดลำดับการพัฒนา รวบรวมปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น และกำหนดมาตรการ/กลไกเร่งรัดการพัฒนาการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการให้เข้าสู่คุณภาพมาตรฐาน เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของส่วนราชการและจังหวัด ในการเลือกนำเครื่องมือการบริหารจัดการที่เหมาะสมมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาองค์การได้อย่างต่อเนื่อง ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ สำนักงาน ก.พ.ร.
  • หัวหน้าส่วนราชการควรมีบทบาทสำคัญในการติดตามประเมินผลการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ของหน่วยงานในสังกัด เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการของส่วนราชการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม และผู้ว่าราชการจังหวัด

2.5 รายงานการเงิน

  • หัวหน้าส่วนราชการต้องกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินการบัญชีของหน่วยงานเร่งแก้ไขปรับปรุงรายการทางบัญชีที่ยังคงมีข้อคลาดเคลื่อนให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม ผู้ว่าราชการจังหวัด และกรมบัญชีกลาง
  • เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานด้านการเงินและบัญชี โดยดำเนินการ ดังนี้

(1) ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานด้านการเงินและบัญชีอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการบันทึกรายการทางบัญชี เพื่อให้สามารถจัดทำรายงานผลการดำเนินงานทางการเงินที่ถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการ ผู้รับผิดชอบดำเนินการ กรมบัญชีกลาง

(2) ติดตามและประเมินผลภายหลังการฝึกอบรมสัมมนาว่าสิ่งที่ได้มีการดำเนินการ ไปนั้นได้ถูกนำไปปฏิบัติมากน้อยเพียงใด และยังคงมีอุปสรรคการดำเนินงานในเรื่องใดบ้าง เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านั้นไปจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับงานด้านการเงินและบัญชีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้รับผิดชอบดำเนินการ กรมบัญชีกลาง

(3) เนื่องด้วยปัจจุบันยังคงพบปัญหาว่า ผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชี การเงิน ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบันทึกรายการทางบัญชีในระบบ GFMIS เนื่องจากการโยกย้ายและเปลี่ยนแปลงผู้ปฏิบัติงานบ่อยครั้ง ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมและผลักดันให้การดำเนินงานตามมติคระรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ที่เห็นชอบในส่วนราชการและจังหวัดมอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชี การเงินของส่วนราชการและจังหวัดที่ผ่านการอบรมด้านบัญชีของระบบ GFMIS ต้องปฏิบัติงานตามที่ได้อบรมมาเป็นระยะเวลา 2 ปี จะโยกย้ายเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อสามารถถ่ายทอดความรู้ให้บุคลากรที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนบังเกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป ผู้รับผิดชอบดำเนินการ กรมบัญชีกลาง สำนักงาน ก.พ. ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม ผู้ว่าราชการจังหวัด

2.6 การสอบทานกรณีพิเศษ

  • การคัดเลือกโครงการเพื่อสอบทานกรณีพิเศษควรให้สอดคล้องกับพันธกิจหลักของกระทรวงและส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในวงกว้าง ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติในคู่มือการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการด้านการสอบทานกรณีพิเศษ ฉบับเดือน กันยายน 2552 ที่ ค.ต.ป. ได้กำหนดไว้ ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ค.ต.ป.ประจำกระทรวง

2.6.1 โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน

  • จัดอบรมแนะนำเทคนิค และวิธีการปฏิบัติในการดำเนินการธุรกิจชุมชนโดยจัดทำตัวอย่างข้อเสนอโครงการต่าง ๆ ที่เป็นโครงการที่ดี และมีประโยชน์ เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่หมู่บ้าน/ชุมชนใช้ในการจัดทำข้อเสนอโครงการ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น โดยให้ข้าราชการที่สังกัดราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทใกล้ชิดกับหมู่บ้าน/ชุมชนลงพื้นที่และสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการติดตามและให้คำแนะนำในการบริหารจัดการโครงการแก่ชุมชนอย่างใกล้ชิด
  • ส่งเสริมให้ผู้สอบบัญชีซึ่งเป็นพนักงานของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ได้ดำเนินการดูแลรับผิดชอบตรวจสอบการดำเนินการของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นกลไกให้เกิดการกำกับและควบคุมการใช้จ่ายเงินของกองทุน พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลในการติดตามและประเมินผลความก้าวหน้า และสถานะในการดำเนินงานของโครงการของหมู่บ้าน/ชุมชนต่างๆ เผยแพร่ให้ผู้ที่รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้สนใจได้มีโอกาสเข้าร่วมติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการต่างๆ

ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

2.6.2 โครงการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว

  • ส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวให้เกิดการบูรณาการและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร และส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวทุกแหล่งมีมัคคุเทศก์ประจำแหล่งท่องเที่ยว โดยใช้คนในพื้นที่ นักเรียน นักศึกษา เพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หรือจัดทำแผ่นดีวีดีที่บรรยายให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวเพื่อสร้างความประทับใจและเดินทางมาเที่ยวอีก ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกช่องทางหนึ่ง

ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงาน ท.ท.ท.จังหวัด

3) การส่งเสริมด้านการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ

3.1 บูรณาการระบบการตรวจสอบและประเมินผลของหน่วยงานกลาง เพื่อเป็นการลดภาระการจัดทำรายงานต่าง ๆ แก่ผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการและจังหวัด ซึ่งขณะนี้ ค.ต.ป. อยู่ระหว่างการดำเนินการ ขั้นตอนที่ 1 คือ การจัดทำฐานข้อมูล (Database) ของระบบการตรวจสอบและประเมินผลสำหรับส่วนราชการและจังหวัดในขั้นตอนต่อไปควรดำเนินการ ดังนี้

(1) จัดทำคลังข้อมูลกลาง (Data Warehouse) โดยการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการ ซึ่งจะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสารสนเทศในการบริหารจัดการ ซึ่งจะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสารสนเทศที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ ทั้งในส่วนของหน่วยงานกลางเพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ และเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหารราชการของฝ่ายบริการ ซึ่งคลังข้อมูลดังกล่าวจะช่วยลดภาระแก่ส่วนราชการในการจัดเตรียมข้อมูลต่างๆ เพราะทุกภาคส่วนสามารถดึงข้อมูลจากคลังข้อมูลกลางไปใช้ได้โดยตรง

(2) การบูรณาการระบบการตรวจสอบและประเมินผลของหน่วยงานกลาง โดยควรดำเนินการ ดังนี้

(2.1) ศึกษาและวิเคราะห์ระบบการตรวจสอบและประเมินผลของแต่ละหน่วยงานกลาง

(2.2) ศึกษาและวิเคราะห์วัตถุประสงค์และรายละเอียดของแต่ละ เครื่องมือที่หน่วยงานกลางต่าง ๆ นำมาใช้เพื่อประเมินผลการปฏิบัติราชการ

(2.3) สรุปผลการศึกษาวิเคราะห์ โดยกำหนด

(2.3.1) เครื่องมือกลางเพื่อใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ

(2.3.2) ระบบการตรวจสอบและประเมินผลโดยใช้ เครื่องมือกลาง

ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ค.ต.ป. กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

3.2 การสร้างความตระหนักให้กับผู้บริหารเพื่อให้เห็นความสำคัญของระบบตรวจสอบและประเมินผลว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้การบริหารจัดการภายในองค์การสามารถบรรลุเป้าประสงค์ขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและโปร่งใส และไม่ได้สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับผู้ปฏิบัติงาน อีกทั้ง เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อให้ระบบราชการเป็นระบบการกำกับดูแลตนเองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ด้วยการสนับสนุนให้มีการดำเนินงาน ดังนี้

(1) พัฒนาและกำหนดให้มีเนื้อหาวิชาด้านการตรวจสอบและประเมินผลภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารทั้งในระดับกลางและระดับสูงของทุกส่วนราชการ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลตนเองที่ดีของส่วนราชการ ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ค.ต.ป. และสำนักงาน ก.พ.

3.3 จัดสัมมนาชี้แจงเกี่ยวกับการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ค.ต.ป.

3.4 ค้นหาต้นแบบที่ดี (Best Practices) ของส่วนราชการและจังหวัดที่สามารถนำเครื่องมือการตรวจสอบและประเมินผลในประเด็นการสอบทานกรณีปกติทั้ง 5 เรื่อง ไปใช้แล้วเกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการ เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติและดำเนินการถอดบทเรียนที่ได้โดยจัดทำเป็นตัวอย่างของการดำเนินการเพื่อเผยแพร่แก่ผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการและจังหวัดได้เข้าใจ และเชื่อมั่นต่อการใช้เครื่องมือเหล่านั้นเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ และง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้ปฏิบัติงาน ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ค.ต.ป. อ.ค.ต.ป. กลุ่มจังหวัด อ.ค.ต.ป.กลุ่มกระทรวง และ ค.ต.ป.ประจำกระทรวง

3.5 การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของค.ต.ป. ดังนี้

(1) การดำเนินงานของส่วนราชการและจังหวัดตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ค.ต.ป.

(2) การบูรณาการระบบตรวจสอบและประเมินผลของหน่วยงานกลางที่อยู่ในกำกับของราชการฝ่ายบริหาร ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ ค.ต.ป. และ อ.ค.ต.ป.เฉพาะกิจเกี่ยวกับการกำหนดแนวทาง วิธีการ การบูรณาการระบบการตรวจสอบและประเมินผลของหน่วยงานกลางที่อยู่ในกำกับของราชการฝ่ายบริหาร

3. รายงานผลการประเมินตนเองของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการคณะต่างๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 สรุปได้ดังนี้

3.1 ผลการประเมินตนเองในภาพรวมของคณะกรรมการฯ รายคณะ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ระดับดีเยี่ยม

3.2 แผนการดำเนินงานในอนาคตของ อ.ค.ต.ป. กลุ่มกระทรวง/กลุ่มจังหวัด และค.ต.ป. ประจำกระทรวง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

(1) ด้านระบบการสอบทาน โดยดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลให้ครอบคลุมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และสามารถรายงานผลได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

(2) ด้านการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ โดยการจัดฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านการตรวจสอบและประเมินผล รวมทั้งการจัดทำคู่มือแนวทางการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้การสอบทานด้านการควบคุมภายในมีความสมบูรณ์มากขึ้น

(3) ศึกษาความเหมาะสมในการขยายขอบเขตการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการไปยังรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกำกับของกระทรวงต่าง ๆ

(4) แนวทางการดำเนินงานของ ค.ต.ป. ตามข้อเสนอของ อ.ค.ต.ป. กลุ่มกระทรวง/กลุ่มจังหวัด และค.ต.ป. ประจำกระทรวง มีดังนี้

  • จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นการดำเนินงานระหว่าง ค.ต.ป. ประจำกระทรวง และ อ.ค.ต.ป. ทุกคณะ
  • จัดประชุมชี้แจงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตามเจตนารมณ์ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ
  • ให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ สำหรับ ค.ต.ป. คณะต่างๆ
  • จัดทำคู่มือสำหรับการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการด้านต่างๆ เพื่อให้การสอบทานมีความสมบูรณ์มากขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ